ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินอุตสาหกรรมไทยโดยเฉลี่ยหนึ่งวัฏจักรกินเวลา 5 ปี แนะผู้ประกอบการต้องรู้ธุรกิจของตนเองอยู่ในช่วงวัฏจักรใด เพื่อจะได้กำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมกับช่วงเวลานั้น
การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ นอกจากผู้ประกอบการจะต้องมีทักษะในการบริหารกิจการแล้ว จำเป็นจะต้องทราบว่าสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจของตนเองเป็นอย่างไร เพื่อจะได้คาดการณ์แนวโน้มธุรกิจและการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะสมกับภาวะธุรกิจที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในข้อมูลที่จะทำให้ทราบแนวโน้มเหล่านั้นได้คือ “วัฏจักรอุตสาหกรรม” เพราะจะทำให้ทราบว่าแนวโน้มธุรกิจอุตสาหกรรมอยู่ในช่วงใด (เติบโต สูงสุด ชะลอตัว ต่ำสุด
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ได้ศึกษาวิเคราะห์วัฏจักรอุตสาหกรรมไทยจำนวน 25 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยใช้ข้อมูลย้อนหลัง 23 ปี (2536-2559) พบว่าอุตสาหกรรมไทยโดยเฉลี่ยหนึ่งวัฏจักรจะกินเวลาประมาณ 5 ปี โดยช่วงขาขึ้นจะกินเวลาประมาณ 3 ปี และช่วงขาลงจะกินเวลาประมาณ 2 ปี รวมถึงศึกษาเจาะลึกว่าในปี 2560 แต่ละอุตสาหกรรมตกอยู่ในช่วงวัฏจักรใด เพื่ออธิบายแนวโน้มธุรกิจของอุตสาหกรรม และเสนอแนวทางการนำกลยุทธ์ทางธุรกิจมาปรับใช้อย่างเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัฏจักร โดยให้ผลการศึกษาดังนี้
อุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงเติบโต (Growth Stage) ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ เครื่องจักรและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก เฟอร์นิเจอร์ ผลิตภัณฑ์ยางพารา ข้าว วัฏจักรช่วงนี้ ยอดขายกำลังเติบโต ต้นทุนเฉลี่ยต่ำ ระดับกำไรเพิ่มขึ้น เริ่มมีคู่แข่งเข้ามามากขึ้น เพราะเห็นโอกาสของตลาด การดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะสมคือ การเร่งเพิ่มส่วนแบ่งตลาดด้วยการทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการโฆษณาและสร้างความแตกต่างของสินค้าเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในยามที่ตลาดกำลังอยู่ในช่วงเติบโต
อุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงสูงสุด (Peak Stage) ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม วัฏจักรช่วงนี้ ยอดขายยังเติบโตได้ดี ต้นทุนต่ำ มีระดับกำไรสูงสุด แต่มีคู่แข่งเยอะขึ้น เพราะมีแรงจูงใจเนื่องจากการเติบโตของตลาด และเนื่องจากช่วงวัฏจักรนี้มีการแข่งขันที่สูงขึ้น ดังนั้น กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมคือ การสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้ลูกค้าเห็นได้อย่างชัดเจน ผ่านการสร้างความแตกต่างของสินค้าและบริการ ยกตัวอย่าง ธุรกิจผลิตเครื่องดื่มซึ่งอยู่ในช่วงสูงสุด ผู้ประกอบการจะต้องสร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ โดยพิจารณาเพิ่มการผลิตเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือกลุ่มผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมรักสุขภาพ
อุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงชะลอตัว (Decline Stage) ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ ประมง แฟชั่น บริการท่องเที่ยว วัฏจักรช่วงนี้ ยอดขายเริ่มเติบโตต่ำลง ต้นทุนเริ่มสูงขึ้น กำไรลดลง คู่แข่งบางส่วนเริ่มออกไปจากธุรกิจ เพราะเกิดภาวะขาดทุน เป็นช่วงของการแข่งขันที่สูง แต่การเติบโตของตลาดต่ำ ดังนั้น กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมคือ ต้องลดต้นทุนการผลิตและรักษาฐานลูกค้าเก่าไว้ รวมทั้งต้องเน้นการผลิตสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัวและเป็นกลุ่มตลาดเฉพาะส่วนมากขึ้น ยกตัวอย่าง อสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่ในช่วงชะลอตัว ผู้ประกอบการอาจต้องเลือกใช้กลยุทธ์สร้างที่อยู่อาศัยที่มีความแตกต่างสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่ทันสมัย เดินทางสะดวก โดยเจาะผู้บริโภคที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยจริงๆ และเน้นกลุ่มตลาดกลางถึงสูง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้ออยู่
อุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงต่ำสุด (Trough Stage) ได้แก่ ปศุสัตว์ สินค้าเกษตรแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กระดาษและสิ่งพิมพ์ พลังงาน เหมืองแร่ วัฏจักรช่วงนี้ ยอดขายลดลง ต้นทุนสูง เริ่มขาดทุน คู่แข่งหนีหายออกจากธุรกิจมากขึ้น เนื่องจากตลาดซบเซา ถือเป็นช่วงต่ำสุดของวัฏจักร ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ยืนอยู่ในช่วงนี้จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก โดยปรับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงพัฒนาช่องทางการตลาดให้ทันสมัย เพื่อเตรียมรับกับโอกาสของวัฏจักรขาขึ้นในรอบใหม่ที่กำลังจะมาเยือน
ข่าวเด่น