เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
พาณิชย์ย้ำม.44 เป็นการนำ Work Sharing มาช่วยในการตรวจสอบสิทธิบัตร


นางอภิรดี  ตันตราภรณ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ห่วงกระแสความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำ   มาตรา 44 ที่เข้าใจกันว่ามาใช้เพื่อจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์แบบปล่อยผีงานค้าง  ซึ่งไม่เป็นความจริง  เพราะการนำมาตรา 44 มาใช้เป็นการนำผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ หรือ Work Sharing มาช่วยในการตรวจสอบสิทธิบัตร  อีกทั้งเป็นเพียงมาตรการทางเลือกชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาปริมาณคำขอรับสิทธิบัตร ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ค้างสะสมมาเป็นเวลานาน ด้วยข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตร ทั้งนี้ คำขอรับสิทธิบัตรนั้นจะได้รับการจดทะเบียนหรือไม่ ยังคงต้องผ่านขั้นตอนการตรวจสอบ เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายไทยเช่นเดียวกับช่องทางปกติ


         
ด้านนายทศพล  ทังสุบุตร   อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า “ระบบสิทธิบัตรเป็นระบบที่คุ้มครองนวัตกรรมและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสาขาวิทยาการของคำขอนั้น หรือสัญชาติของผู้ยื่นคำขอกรมฯ ตระหนักดีว่าปัญหางานค้างสะสมของกรมฯ เป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการค้าการลงทุน และทำให้ไม่เกิดการพัฒนาการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น จึงได้มีมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น การปรับปรุงฐานข้อมูลเปิดให้ยื่นคำขอด้วยระบบ E-Filing ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนการจดทะเบียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น   รวมทั้งได้รับการจัดสรรอัตรากำลังผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นอีก 74 คน ซึ่งจะเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการทำงานของกรมฯ ในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้”

“อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัญหาคำขอรับสิทธิบัตรค้างสะสมมีมานานและเป็นปัญหาที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนจึงจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น เพื่อสะสางงานค้างสะสมที่เก่ามากแล้ว และในอนาคตงานที่เข้ามาใหม่จะได้สมดุลกับความสามารถในการทำงาน เพื่อรองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ประเทศไทยจะก้าวหน้าด้วยนวัตกรรม   โดยอาศัยอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติตามมาตรา 44 ในการใช้ผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศ หรือ Work Sharing   โดยจะเปิดโอกาสให้ผู้ขอที่ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรมานานเกินกว่า 5 ปี   ซึ่งได้รับสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์อย่างเดียวกันนี้แล้วจากสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศสามารถแจ้งความประสงค์ให้ตรวจสอบการประดิษฐ์แบบทางเลือกนี้ได้ภายใน 90 วันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ และหากกรมฯ ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการประดิษฐ์อย่างเดียวกันกรมฯ จะนำผลการทำงานของสำนักงานสิทธิบัตรต่างประเทศมาใช้แล้วตรวจสอบเพิ่มในของเงื่อนไขอื่นเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายไทย  

ซึ่งคาดว่าวิธีนี้กรมฯ จะมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว และสามารถรับจดทะเบียนคำขอรับสิทธิบัตรได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี นอกจากนี้ ยังเพิ่มช่องทางสำหรับร้องขอให้ตรวจสอบการประดิษฐ์ใหม่ หรือ Re-Examination คำขอที่ได้รับจดทะเบียนผ่านมาตรการพิเศษนี้ โดยมีคณะผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมเป็น ผู้พิจารณาเพื่อให้เกิดความเป็นกลาง” นายทศพล กล่าว

         

LastUpdate 17/03/2560 14:01:39 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 8:52 pm