การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ในวันที่ 14-15 มี.ค. 60 นับเป็นปัจจัยที่กดดันราคาทองคำอย่างต่อเนื่อง จนราคาทองคำอ่อนตัวลง 6 วันติดต่อกัน จนร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดรอบ 5 สัปดาห์ และเคลื่อนไหวต่ำกว่าระดับ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นแตะ 2.624% ทดสอบจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.
ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพิ่มมุมมองเชิงลบต่อทิศทางราคาทองคำ โพลล์รอยเตอร์ล่าสุดคาดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% อีก 2 ครั้งหลังเดือนมี.ค. โดยจะปรับขึ้นในไตรมาส 2 และไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ 1.25-1.50% ในช่วงสิ้นปีนี้
แต่สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมีนาคม 2560 กลับอยู่ที่ระดับ 68.05 จุด ปรับขึ้นมาจากเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาที่ 3.13 จุด หรือปรับขึ้น 4.82 % โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า ปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลต่อราคาทองคำ คือ นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ และ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ส่วนปัจจัยกดดันราคาทองคำยังคงเป็นทิศทางนโยบายทางการเงินของ FED ช่วงกลางเดือน ด้านแบบสำรวจผู้ค้ารายใหญ่ให้กรอบราคาที่ 1,211-1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนราคาทองคำในประเทศคาดว่าน่าจะอยู่ในกรอบ 20,000 -21,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ดร. พิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ แถลงดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมีนาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 68.05 จุด ปรับขึ้นมาจากเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาที่ 3.13 จุด หรือปรับขึ้น 4.82 % จากระดับ 64.92 จุด แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อราคาทองที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ราคาทองจะมีความผันผวน โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัจจัยเชิงบวกที่ส่งผลต่อราคาทองคำ คือ นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความต้องการซื้อสินทรัพย์ที่ปลอดภัย และ สถานการณ์การเมืองในยุโรป ส่วนปัจจัยกดดันหลักต่อราคาทองคำยังคงเป็นทิศทางนโยบายทางการเงินของ FED
ทั้งนี้จากการสำรวจผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 10 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในเดือนมีนาคม 2560 จะเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้น จำนวน 9 ราย และคาดว่าราคาทองคำจะใกล้เคียงกับราคาทองในเดือนมกราคม 2560 จำนวน 1 ราย โดยมีมุมมอง ดังนี้ Gold Spot กรอบราคาต่ำสุดให้น้ำหนักบริเวณ 1,211 – 1,230 ดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อออนซ์ กรอบสูงสุดที่บริเวณ 1,280 – 1,300 ดอลล่าร์สหรัฐฯต่อออนซ์
ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศ กรอบราคาต่ำสุดให้น้ำหนักที่ 20,001 – 20,500 บาททองคำต่อน้ำหนัก 1 บาท กรอบราคาสูงสุดที่บริเวณ 21,001 – 21,500 บาทต่อทองคำต่อน้ำหนัก 1 บาท และด้านค่าเงินบาทไทย กรอบต่ำสุดให้น้ำหนักที่บริเวณ 34.51 – 35.00 บาทไทย ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และสูงสุดที่ 35.01 – 35.50 บาทไทย ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
ข่าวเด่น