เศรษฐกิจไทยปีนี้ เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน จากการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สรุปผลการประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยว่า ในปี 2559 เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยขยายตัวได้ 3.2% จากแรงขับเคลื่อนด้านการส่งออกบริการและการลงทุนภาครัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 0.2% ต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อสองปีติดต่อกัน เป็นผลจากราคาพลังงานที่ลดลงและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าที่ขยายตัวในระดับต่ำ ในขณะที่ตลาดการเงินไทย แข็งแกร่งมากและสามารถรับมือความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศได้เป็นอย่างดี
ส่วนเศรษฐกิจไทยในระยะสั้นถึงปานกลางกลางน่าจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากการใช้จ่ายภาครัฐที่เป็นบทบาทหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ตามแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไป ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่า จะเพิ่มขึ้นในปีนี้ตามแนวโน้มราคาพลังงานตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นแต่คาดว่า ยังต่ำกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2.5% ต่อไปอีกหลายปี ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานจะยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะทยอยปรับลดลงตามความต้องการ (อุปสงค์) ในประเทศที่ดีขึ้นในระยะปานกลาง
แม้แนวโน้มในระยะต่อไปเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน ทั้งปัจจัยต่างประเทศ เช่น การปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายของสหรัฐ ที่อาจทำให้เงินทุนไหลออกและส่งผลให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น และยังก่อให้เงินความผันผวนในตลาดการเงินโลก อย่างไรก็ตามจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ดีน่าจะเป็นปัจจับวกที่ทำให้ภาคการส่งออกและท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัวในระยะอันใกล้
ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงในประเทศได้แก่ การลงทุนภาคเอกชนที่ต่ำ อาจส่งผลกดดันความต้องการภายในประเทศและศักยภาพของเศรษฐกิจ และจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน และหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงจะเป็นอุปสรรคต่อการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจมากกว่าที่คาด
ดังนั้นไอเอ็มเอฟจึงแนะนำ ให้ไทยดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผสมผสานทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศระยะสั้นและเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระยะปานกลางและจะช่วยให้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงปรับแข็งค่าขึ้นผ่านการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มรายได้ที่แท้จริง ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนควรเป็นปราการด่านแรกที่จะช่วยรองรับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
นอกจากนี้เสนอให้ไทยใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนควบคู่กับการปรับปรุงการสื่อสารนโยบาย เพื่อช่วยให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น และเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่เป้าหมาย ทั้งนี้การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนปรนผสม ประสานกับนโยบายการคลังที่ผ่อนปรนขึ้นจะช่วยลดความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานและป้องกันการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงและภาระหนี้ที่แท้จริง
อีกทั้งยังเป็นการทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ไทยหลุดพ้นภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำได้เร็วขึ้นและทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินเข้มแข็งยิ่งขึ้น และแสดงถึงเจตนารมณ์ที่จะดูแลให้อัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่กลับเป้าหมายจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการส่งผ่านนโยบายการเงิน
ไอเอ็มเอฟระบุด้วยว่า ไทยควรดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างโดยทุกภาคส่วนควรพิจารณาปัจจัยทั้งหมดที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และให้ความสำคัญกับความท้าทายที่เกิดจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว ซึ่งการเพิ่มกำลังแรงงานด้วยการลดความไม่เท่าเทียมทางเพศ และการเพิ่มอายุเกษียณ รวมไปถึงการอำนวยความสะดวกในการย้ายถิ่นฐานของแรงงานฝีมือและ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะช่วยเพิ่มภาพแรงงานและลดผลกระทบจากปัญหาโครงสร้างประชากร
ข่าวเด่น