หุ้นทอง
แก้กฎหมาย ก.ล.ต.เพิ่มอำนาจ ปลดบอร์ด-ผู้บริหาร


จำนวนบริษัทหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีมากกว่า  650 แห่ง  ทั้งในตลาด  SET และตลาด MAI   ทำให้การกำกับดูแลการของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ในปัจจุบันอาจล่าช้าไม่ทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง  ซึ่งนายอภิศักดิ์  ตันติวรวงศ์    รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง บอกว่า  กระทรวงคลังกำลังเร่งรัดแก้ไขกฎหมายสำนักงาน ก.ล.ต.  จำนวน 20 มาตรา เพื่อปรับแก้กฎระเบียบขึ้นมาใหม่  หวังเพิ่มอำนาจ ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ในการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการเพิ่มบทบาทการเข้าไปแก้ไขปัญหาและ ป้องกันปัญหาให้ทันเหตุการณ์ปัจจุบัน   เพื่อให้มีอำนาจ เข้าไปแทรกแซง หรือควบคุมดูแลได้อย่างแท้จริง

         
โดยหากพบว่า มีข้อพิพาทของกรรมการ  ผู้บริหาร จนเกิดความเสียหายต่อบริษัท เจ้าหนี้  และนักลงทุน  สามารถตัดสินใจปลดออกจากตำแหน่ง และเรียกประชุม ผู้ถือหุ้นเพื่อคืนอำนาจให้นักลงทุนของบริษัท ในการแต่งตั้งกรรมการคนใหม่  เพื่อป้องกันความเสียหายของผู้ถือหุ้น โดยคาดว่า จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้ภายในกลางเดือนเม.ย.นี้  
 
เพราะต้องยอมรับว่า  ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบดูแลบริษัทจดทะเบียน แต่ไม่มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา   ทำให้ความขัดแย้งนั้นเกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นและ เจ้าหนี้
 
นอกจากนี้ ในแผนการพัฒนาตลาดทุนในระยะยาว  ทางกระทรวงการคลัง ได้ให้นโยบายกับสำนักงาน ก.ล.ต. ที่จะมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาตลาดทุน  โดยต้องกำหนดทิศทางของตลาดทุนไทยว่า ต้องก้าวอย่างไรใน 10-20 ปีข้างหน้า   และกำหนดให้เป็นภารกิจสำคัญ สำนักงาน ก.ล.ต.ต้องติดตามสถานการณ์อย่างรวดเร็ว   เพราะหากล่าช้าอาจเกิดปัญหาเชิงระบบได้ ไม่เห็นนั้นอาจตามแก้ปัญหาไม่ทันเหตุการณ์    ซึ่งเป็นการดำเนินเช่นเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
 
 
 

ด้านนายรพี   สุจริตกุล   เลขาธิการ ก.ล.ต.  กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจให้สำนักงาน ก.ล.ต.เข้าดูแลบริษัทจดทะเบียนนั้น  อยู่ในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 6 จะมีการแก้ไขใน 20 มาตรา   โดยในเบื้องต้นกฎหมายดังกล่าวจะให้อำนาจ ก.ล.ต.สามารถเข้าไปปลดคณะกรรมการบริหาร และ ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน  กรณีที่มีความขัดแย้งและกระทบกับผู้ถือหุ้นและก่อให้เกิดความเสียหาย  โดยจุดมุ่งหมาย คือ การคืนอำนาจให้กับผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดทิศทางของบริษัท         
 
ทั้งนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. มองว่า   การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะไม่กระทบกับภาพลักษณ์ของตลาดทุนไทย   เพราะเป็นการใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เกิดปัญหารุนแรงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบเทียบเคียงกับต่างประเทศ อาจจะไม่มีกฎหมายในลักษณะเดียวกับไทย
          
สาเหตุที่ทำให้ยกระดับกฎหมายนี้  ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นนักผู้ลงทุนรายย่อยจำนวนมาก  อีกทั้งผู้ลงทุนอาจไม่ตระหนักถึงการใช้สิทธิใช้เสียงในการประชุมผู้ถือหุ้นเท่าที่ควร  สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว  ขณะนี้ ขั้นตอนอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขให้มีความสมบูรณ์ที่สุด  ซึ่งคาดว่าจะสรุปและเสนอให้กับคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ภายในสิ้นเดือนนี้   ก่อนเสนอกับกระทรวงการคลังต่อไป
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 18 มี.ค. 2560 เวลา : 14:16:26
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 4:57 am