พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การขับเคลื่อนภารกิจด้านการเกษตรต่างประเทศภายใต้นโยบายประเทศไทย 4.0” และมอบนโยบายด้านการเกษตรต่างประเทศ โดยได้รับฟังสถานการณ์ด้านการเกษตรในต่างประเทศที่สำคัญและแนวทางดำเนินงานจากผู้แทนถาวรไทย (ฝ่ายการเกษตร) ประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) และกงสุลฝ่ายการเกษตร จากสำนักงานในต่างประเทศที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 11 แห่ง ใน 8 ประเทศ
ประกอบด้วย สำนักที่ปรึกษาฝ่ายการเกษตร 7 แห่ง ได้แก่ กรุงโรม สหภาพยุโรป กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กรุง โตเกียว กรุงปักกิ่ง กรุงจาการ์ตา และกรุงแคนเบอร์รา กงสุลฝ่ายการเกษตร ประจำสำนักกงสุลใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ นครกว่างโจว นครเซี่ยงไฮ้ และนครลอสแอนเจลิส และ ฝ่ายการเกษตรประจำสำนักเอกอัครราชทูต 1 แห่ง ณ กรุงมอสโก ว่า กระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและแก้ไขอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอุปสรรคทางด้านการค้าที่มิใช่ภาษี ปัญหาข้อกำหนดด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช รวมถึงการกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีความรุนแรงและความเข้มข้นมากขึ้น ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม เพื่อแสวงหาความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งด้านการค้า การลงทุน การแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากรด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรของไทย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในระยะ 20 ปี และยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตรฯ ในระยะ 5 ปี
ดังนั้น สิ่งที่เน้นยำกับทูตเกษตรครั้งนี้ 3 ส่วนหลัก คือ 1.การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรและอาหารของไทย โดยเฉพาะการเน้นยำถึงการยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรไทย 2. การคิดวิเคราะห์ และสังเคราะห์ ประเด็นปัญหา อุปสรรค แนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรในแต่ละประเทศกลับมายังกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อกำหนดแผนในการเจาจาหรือปรับกลยุทธ์ให้สินค้าเกษตรไทยเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น 3. การประชาสัมพันธ์ แนะนำสินค้าเกษตรตัวใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคต่างประเทศรู้จัก เช่น มะยงชิด ที่ประเทศอินโดนีเซียให้ความสนใจ เป็นต้น
“เป้าหมายการเรียกประชุมทูตเกษตรที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในครั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร จะได้ร่วมกำหนดแนวทางกรอบการดำเนินงาน และพร้อมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม และเศรษฐกิจฐานรากของไทย เนื่องจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในต่างประเทศจะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการสืบค้นข้อมูลเชิงลึก และรายงานข้อมูลความเคลื่อนไหวด้านนโยบาย กฎ ระเบียบ มาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเกษตรของประเทศคู่ค้าที่จะส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตรไทย
รวมถึงความเคลื่อนไหวของประเทศคู่แข่งทางการค้าสินค้าเกษตรของไทยในประเทศเป้าหมายต่างๆ ซึ่งทำให้ไทยสามารถเตรียมการรองรับ และบรรเทาผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อการผลิตสินค้าเกษตรของไทยที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจาก นโยบายและมาตรการต่างๆ ของประเทศคู่ค้า รวมถึงการเจรจา และติดตามการแก้ไขปัญหา และอำนวยความสะดวกทางการสินค้าเกษตรของไทยในประเทศที่ประจำการที่สำคัญของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน เป็นต้น รวมทั้งดำเนินการเปิดตลาดสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น และแสวงหาตลาดใหม่ โดยในรอบปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่ไทยสามารถเปิดตลาดสินค้าเกษตรได้ในหลายๆ ประเทศ เช่น การเปิดตลาดมะม่วงพันธุ์เขียวเสวย และน้ำดอกไม้ไปยังประเทศญี่ปุ่น การส่งออกไก่สดไปเกาหลีใต้ และสิงคโปร์ การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา IUU กับสหภาพยุโรป เป็นต้น” พลเอก ฉัตรชัย กล่าว
ข่าวเด่น