เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
นักวิชาการเตือนทุกภาคส่วนปรับตัวเลี่ยงต้มยำกบ Crisis


นายสกนธ์  วรัญญูวัฒนา  คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้ 3.3-3.5% โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากภายในประเทศ เช่น นโยบายการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ, โครงการช็อปช่วยชาติที่กระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภค, จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนแรงขับเคลื่อนนโยบายภาคการส่งออกของไทยที่ฟื้นตัวจากมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้นในสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์, สินค้าโภคภัณฑ์ และยางพารา เป็นต้น

 

 
พร้อมกันนี้ ยังมองว่า  มาตรการจัดเก็บภาษีที่เพิ่มขึ้นในหลายกลุ่มอาจจะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อการจับจ่ายใช้สอยของภาคครัวเรือน โดยรัฐบาลควรพิจารณาความเหมาะสมของจังหวะเวลาในการปรับขึ้นอัตราภาษีหากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวม

          
"การปรับขึ้นภาษี จำเป็นต้องดูทิศทางเศรษฐกิจของประเทศ แม้ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจยังไม่มีสัญญาณว่าจะเจอปัญหา ซึ่งเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มดีดหัวขึ้น หากรัฐบาลขึ้นภาษีก็เหมือนเป็นการแตะเบรคให้ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าไม่ถูกจังหวะ ถ้าจะปรับขึ้นต้องดูจังหวะให้ดีๆ มันเป็นโจทย์ที่ยากมาก"
          
ส่วนอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมองว่า อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันที่ระดับ 1.50% ถือว่ามีความเหมาะสมกับเศรษฐกิจ ซึ่งแม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งล่าสุดไปแล้ว แต่เชื่อว่าจะไม่ได้สร้างแรงกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม และมองว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปีของไทยน่าจะยังคงอยู่ที่ระดับ 1.50%
          
ด้านนายวิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 60 จะไม่เกิดวิกฤติการณ์ส้มตำ หรือ "SOMTUM Crisis" อย่างแน่นอน เพราะมองว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยเริ่มที่เติบโตได้อย่างช้าๆ แบบไม่หวือหวา เป็นภาวะที่เศรษฐกิจเริ่มเชิดหัวขึ้น
          
ในขณะที่ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการอาจอยู่ในภาวะซึมตัว อันเนื่องจากปัจจัยภายนอก เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะซึมตัว คือ ธุรกิจที่เน้นการส่งออกไปในกลุ่มประเทศที่มีความไม่แน่นอน เช่น จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยการส่งออกสินค้าที่ลดลงจะตามมา ซึ่งการทำให้ผู้ประกอบการอาจต้องตัดสินใจปรับลดกำลังการผลิต ปรับเวลาการการทำโอที หรือมากสุดคือการลดการจ้างงาน
          
 
 
 
ดังนั้น ผู้ประกอบการควรหาช่องทางในการขยายการลงทุนการทำธุรกิจไปในแถบประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV เพราะเป็นฐานเศรษฐกิจหลักที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาประเทศเหล่านี้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละปีเฉลี่ยที่ 6-8% ทั้งนี้จะเริ่มเห็นได้ว่ามีผู้ประกอบการธุรกิจของไทยได้พยายามหาลู่ทางขยายการค้าและการลงทุนไปยังประเทศในภูมิภาค เช่น การเปิดห้างสรรพสินค้าไทยในอินโดนีเซีย และมาเลเซีย เป็นต้น
          
นายวิทวัส มองว่า กลุ่มธุรกิจที่จะเป็นตัวชูโรงให้กับธุรกิจของไทยในปี 60 จะเป็นธุรกิจประเภทบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งมองว่าภาครัฐควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งกับตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมทั้งต้องเร่งวางรากฐานในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในปีนี้ หรือคิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 3,600 ล้านบาท
          
อีกทั้งรัฐควรจะมีการจัดตั้ง Smart Agent ขึ้นเพื่อช่วยผลักดันให้เกิดกลุ่มธุรกิจรายใหม่ในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยสร้างเม็ดเงินให้หมุนเวียนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพการเติบโตในอนาคต เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการผลิตอาหาร, การเกษตร และการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้มแข็งของประเทศไทยที่สามารถนำมาต่อยอดได้
          
ด้านนายสุทธิกร กิ่งแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แม้จะเชื่อว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะไม่เกิดภาวะวิกฤติ หรือ SOMTUM Crisis แต่ก็อาจจะเข้าสู่ภาวะ "ต้มยำกบ Crisis" ซึ่งเปรียบเหมือนกับเป็นการเข้าสู่ภาวะวิกฤติอย่างช้าๆ โดยที่ไม่รู้ตัว เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่า 5% มาหลายสิบปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศแซงหน้าไทยไปแล้ว
          
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจไทยยังมีการเติบโตช้าก็จะกระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมองว่าหลายอุตสาหกรรมหลายกลุ่มมีการเติบโตหรือปรับตัวไม่ทันกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อิเล็กทรอนิกส์, ฮาร์ดดิสก์ ที่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล่านี้เริ่มใช้แรงงานคนลดลง แต่หันมาใช้เครื่องจักรในการผลิตมากขึ้น ซึ่งหากในธุรกิจอื่นๆ ไม่มีการปรับตัว ไม่พัฒนาทักษะฝีมือและความสามารถของแรงงงาน ก็จะทำให้ธุรกิจเหล่านี้ค่อยๆ ล้มหายไป
          
 
 
 
 
นายสุทธิกร มองว่าในระยะสั้นคงไม่เห็นวิกฤติเศรษฐกิจ หรือคงไม่เกิด SOMTUM Crisis ในประเทศอย่างแน่นอน แต่สิ่งที่น่าห่วงกว่านั้น คือ โครงสร้างเศรษฐกิจและรูปแบบอุตสาหกรรมของโลกจะเปลี่ยนไปในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมบางประเภทของไทยเองไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยี ซึ่งอาจจะทำให้อุตสาหกรรมนั้นค่อยๆ ถดถอยและล้มตายไปในที่สุด
          
"การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่ต่ำกว่า 5% มาเป็นสิบปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านโตกว่าเรา อุตสาหกรรมก็พัฒนากว่าเรา ซึ่งถ้าเรายังโตช้าแบบนี้ สุดท้ายจะกระทบต่อภาพรวมความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทย เหมือนเราไม่รู้สึกว่าเรากำลังจะตาย แต่จริงๆ แล้วเรากำลังจะตาย กบเป็นสัตว์เลือดเย็น จึงไม่รู้ว่าอยู่ในน้ำที่กำลังเดือด เพราะมันจะปรับอุณหภูมิของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายพอน้ำเดือด ทนไม่ได้กบก็จะตาย เหมือนกับเศรษฐกิจไทย เราอยู่ในภาวะที่โตช้า หลายอุตสาหกรรมปรับตัวไม่ทัน ทั้งสิ่งทอ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ มันมี Trend ใหม่ๆ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ คนก็จะตกงาน ตรงนี้จะเป็นปัญหาถ้าเราไม่สามารถฝึกฝนแรงงานให้มีทักษะฝีมือในการปรับตัว เราจะเหมือนกบที่กำลังถูกต้มอยู่ คือมันจะค่อยตายไปช้าๆ ทีละส่วน"
          
พร้อมระบุว่า อุตสาหกรรมของไทยต้องเน้นการกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาการค้าการลงทุนกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐ ยุโรป และจีน ไปสู่การขยายการค้ากับประเทศขนาดเล็กที่เติบโตเร็ว เช่นในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV หรือแม้แต่อินเดีย และแอฟริกา ซึ่งประเทศเหล่านี้จะเป็นเครื่องยนต์หลักเครื่องใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในยุคนี้
 

LastUpdate 20/03/2560 20:19:37 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 9:19 pm