ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) ประเมินกรณีนายกรัฐมนตรี Theresa May เตรียมประกาศใช้มาตรา 50 (Article 50) ของสนธิสัญญาลิสบอน ในวันที่ 29 มี.ค. 2017 เพื่อเริ่มต้นกระบวนการเจรจาการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (European Union: EU) ทั้งนี้ การสิ้นสุดสมาชิกภาพจะใช้เวลา 2 ปี หลังจากการประกาศใช้มาตรา 50 ซึ่งหมายความว่าสหราชอาณาจักร (United Kingdom: UK) จะออกจาก EU อย่างเป็นทางการภายในเดือนมี.ค. 2019 แต่อาจมีการขยายระยะเวลาเพิ่มเติมได้หากได้รับความยินยอมจากสมาชิกใน EU
โดยประเด็นการออกจาก Single market เป็นสิ่งที่นักลงทุนมองว่าเป็น Hard Brexit ค่าเงินปอนด์มีความอ่อนไหวต่อข่าวที่เกี่ยวกับ Brexit ค่อนข้างมาก ล่าสุดแตะจุดต่ำที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ในวันที่มีการประกาศว่าเป็น Hard Brexit ตลาดการเงินมีมุมมองว่าการถอนตัวออกจาก EU ในรูปแบบดังกล่าว อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของ UK ได้ในอนาคต เนื่องจาก UK พึ่งพาการค้าระหว่างประเทศกับ EU คิดเป็นสัดส่วนกว่า 1 ใน 3 ของการค้าระหว่างประเทศของ UK ทั้งหมด
นอกจากนี้ อีไอซีมองว่า การเร่งกระบวนการ Brexitให้เกิดขึ้นเร็ว อาจทำให้ได้ข้อตกลงที่ไม่สมบูรณ์นัก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อภาคเศรษฐกิจจริง และอาจมีส่วนสำคัญต่อความเชื่อมั่นและการตัดสินใจลงทุนของภาคธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และแรงงาน ที่ยากขึ้นอาจทำให้บริษัทที่มีการประกอบธุรกิจเชื่อมโยงกับประเทศอื่นใน EU เลือกที่จะย้ายสำนักงานออกจาก UK ซึ่งจะส่งผลให้การลงทุน การจ้างงาน การบริโภค และเศรษฐกิจของ UK ชะลอตัวลงในที่สุด นอกจากนี้ ค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่ารุนแรงอาจส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น และจะกระทบการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะต่อไป ทั้งนี้ เศรษฐกิจของ EU อาจชะลอตัวตามไปด้วยเช่นกัน เนื่องจาก UK เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และมีความเชื่อมโยงกับ EU ค่อนข้างมาก
ดังจะเห็นได้จากภาคธุรกิจหลายแห่งโดยเฉพาะภาคธนาคารตัดสินใจที่จะย้ายสำนักงานออกจาก UK จากการสำรวจของบริษัท Ernst & Young พบว่า บริษัทต่างชาติใน UK กว่า 14% ตัดสินใจแล้วว่าจะย้ายการทำงานบางส่วนหรือทั้งหมดออกจาก UK โดยบริษัทกว่าครึ่งมองว่าเยอรมนีเป็นที่ตั้งที่น่าสนใจที่สุดในยุโรป นอกจากนี้ สถาบันการเงินขนาดใหญ่อย่างธนาคาร Barclays ก็เตรียมย้ายสำนักงานใหญ่จาก UK ไปที่ไอร์แลนด์ ขณะที่ Morgan Stanley เตรียมย้ายพนักงาน 300 คนออกจาก UK หลังแยกตัวจาก EU ทั้งนี้ นอกเหนือจากปัจจัยด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน ภาคธนาคารบางส่วนตัดสินใจที่จะลดการประกอบการใน UK เพราะความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจชะงักงันอาจส่งผลต่อเนื่องถึงการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศและต้นทุนการกู้ยืมของสถาบันการเงินได้ในอนาคต
ขณะที่ส่งออกไทยเสี่ยงซบเซา หาก Brexit ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจยูโรโซน แม้ความสัมพันธ์ทางการค้าโดยตรงระหว่างไทยกับ UK จะมีไม่มากนัก แต่ความไม่แน่นอนในการเจรจา Brexit อาจส่งผลกระทบต่อไทยผ่านความผันผวนในตลาดการเงินในระยะสั้นและความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะเดียวกัน ความเสี่ยงต่อสภาวะเศรษฐกิจถดถอยใน EU และ UK อาจกระทบต่อภาคส่งออกไทยเป็นวงกว้าง เนื่องจากไทยส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าวเป็นสัดส่วนกว่า 12% ของส่งออกทั้งหมด ซึ่งนำโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบ และรถยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ ระดับผลกระทบจาก Brexit ในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับว่าทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงที่ประนีประนอมกันได้ในระดับใด โดยผลกระทบจะน้อยที่สุดหากข้อตกลงฉบับใหม่สามารถทำให้การค้าและการลงทุนยังคงเป็นไปได้อย่างราบรื่น ขณะที่ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้และจบลงด้วยความสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO)
พร้อมกันนั้น ต้องจับตากรณีสกอตแลนด์เตรียมลงประชามติแยกตัวจาก UK ทวีความเสี่ยงการเจรจา Brexit Nicola Sturgeon ผู้นำและมุขมนตรีของสกอตแลนด์ ต้องการจัดทำประชามติครั้งใหม่ว่าด้วยการแยกตัวของสกอตแลนด์ออกจาก UK หลังจากผลโหวต Brexit บ่งชี้ว่าชาวสกอตแลนด์กว่า 62% ต้องการอยู่ใน EU ต่อไป โดยการลงประชามติอาจถูกจัดตั้งขึ้นในช่วงปลายปี 2018 ถึง ช่วงต้นปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงที่ UK ใกล้จะสิ้นสุดกระบวนการเจรจา Brexit การลงประชามติดังกล่าวจึงนับว่าเป็นอีกความเสี่ยงต่อการเจรจา Brexit ที่อาจทำให้ UK ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงกับ EU ได้ภายใน 2 ปี นอกจากนี้ หากผลประชามติออกมาว่าสกอตแลนด์จะแยกตัวจาก UK ก็จะเพิ่มความไม่แน่นอนซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่าสกอตแลนด์จะยังใช้เงินปอนด์ต่อไปหรือไม่
ข่าวเด่น