นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศพร้อมกันจำนวน 3 กองทุน ในวันที่ 21 มีนาคม 2560 สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 มีนาคม 2559 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 จำนวน 2 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ (SCBEMBOND) จ่ายปันผล 0.2531 บาทต่อหน่วย โดยจ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2559จำนวน 0.1000 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.1531 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 2 โดยมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 2.04%ต่อปี 6 เดือนอยู่ที่ 1.08%ต่อปี และ 1 ปี อยู่ที่ 9.97%ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค.2560) และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นอินเดีย (SCBINDIA) ในอัตรา 0.1020 บาทต่อหน่วย โดยได้จ่ายระหว่างกาลแล้วเมื่อวันที่ 22 ก.ย.2559 จำนวน 0.0300 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.0720 บาทต่อหน่วย นับเป็นการจ่ายปันผลครั้งที่ 2
ส่วนอีก 1 กองทุนคือ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นโกลบอลเฮลธ์แคร์ (SCBGHC) สำหรับงวดผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2559 - 28 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นการจ่ายปันผลครั้งแรกในอัตรา 0.0444 บาทต่อหน่วย
ทั้งนี้กองทุน SCBINDIA และกองทุน SCBGHC ถือว่ามีผลการดำเนินงานที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยกองทุน SCBINDIA ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 11.10%ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 3.36%ต่อปี และ 1 ปี อยู่ที่ 17.86%ต่อปี ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานจากต้นปีอยู่ที่ 9.53%ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ -1.57%ต่อปี และ 1 ปีอยู่ที่ 17.68%ต่อปี ส่วนกองทุน SCBGHC ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 10.78%ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 2.10%ต่อปี และ 1 ปี อยู่ที่ 11.88%ต่อปี ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 8.56%ต่อปี, 6 เดือนอยู่ที่ 1.65%ต่อปี และ 1 ปี อยู่ที่ 9.63%ต่อปี (ข้อมูล ณ วันที่ 9 มี.ค.2560)
สำหรับกองทุน SCBEMBOND มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Capital Group Emerging Markets Local Currency Debt Fund (LUX) (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (share class) “Z share class” ใน class ที่ลงทุนด้วยสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยกองทุนนี้ได้เปลี่ยนกองทุนหลักเมื่อ 22 ก.พ. 2560 เป็น JPMorgan Funds – Emerging Markets Investment Grade Bond Fund ชนิดหน่วยลงทุนShare Class C (ACC) ส่วนกองทุน SCBINDIA มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ iShares India 50 ETF ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน ซึ่งซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (NASDAQ) บริหารงานภายใต้ความดูแลของ BlackRock และมีนโยบายลงทุนในหุ้นที่เป็นส่วนประกอบของ CNX NIFTY Index เพื่อให้ผลการดำเนินงานของกองทุนก่อนหักค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกับผลตอบแทนของ CNX NIFTY Index TR USD
ส่วนกองทุน SCBGHC มีนโยบายเน้นลงทุนในหน่วยลงทุนของ Janus Global Life Sciences Fund ชนิดหน่วยลงทุน I Share Class (Institutional Share Class) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ในการดำเนินชีวิต (Life Sciences) หรือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาหรือยกระดับคุณภาพชีวิต ได้แก่ บริษัทด้านการวิจัย พัฒนา ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวข้องสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตัวเอง การแพทย์หรือเภสัชกรรม รวมไปถึงบริษัทที่มีศักยภาพในการเติบโตหลักมาจากผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี การจดสิทธิบัตร หรือตลาดอื่นใดที่ได้รับประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เป็นต้น
นายสมิทธ์ กล่าวถึงภาพรวมหุ้นกลุ่มเฮลธ์แคร์ว่า มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนทั้งการเติบโตของกำไรตามภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก รวมทั้งนักลงทุนยังถือครองหุ้นสหรัฐฯ ในระดับกลางๆ ทำให้มีโอกาสที่จะมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่ออีกได้ ดังนั้นด้วยภาพตลาดโดยรวมที่ยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น ราคาหุ้นของกลุ่มเฮลธ์แคร์ก็ยังมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะถ้าพิจารณาจากมูลค่าพื้นฐานของกลุ่มนี้ที่ยังต่ำกว่าตลาดโดยรวมอยู่ นอกจากนี้ปัจจัยสนับสนุนเชิงบวกต่อกลุ่มเฮลธ์แคร์อีกด้านคือการปรับโครงสร้างภาษีภายใต้นโยบายทรัมป์ ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับลดภาษีนิติบุคคล พร้อมกับการเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนบริษัทในประเทศ โดยผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าว ธุรกิจเฮลธ์แคร์จะเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์ในอันดับต้นๆ เนื่องจากสัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศมีค่อนข้างน้อย และเป็นการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามได้แก่นโยบายการควบคุมราคายาของทรัมป์ ซึ่งจะกดดันกำไรของบริษัทฯ อย่างไรก็ตามด้วยโครงสร้างการกำหนดราคายาในประเทศสหรัฐปัจจุบันไม่สามารถอนุญาตให้ประธานาธิบดี หรือรัฐบาลเข้าไปควบคุมได้โดยตรง ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการออกกฎหมายหากมีความต้องการเข้าไปควบคุมจริง
ส่วนภาพรวมเศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก และแรงกดดันของปัญหาเงินเฟ้อลดลงส่งผลให้รัฐบาลมีความคล่องตัวในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ง่ายขึ้น ผลจากนโยบายประกาศยกเลิกธนบัตรของนายกรัฐมนตรีโมดี ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และทำให้ธนาคารในอินเดียมีเงินฝากเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยในการกู้ของประเทศอินเดียลดลง ซึ่งจะทำให้ประเทศอินเดียมีความน่าสนใจในแง่ของการลงทุนยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้มีเงินทุนไหลออก และจะเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางของอินเดียไม่สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้เพิ่มเติม
ข่าวเด่น