อีไอซีคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2017 จะมีประมาณ 35.3 ล้านคน เติบโตจากปีก่อน 8.4% และจะนำรายได้เข้าสู่ประเทศสูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม อีไอซีเล็งเห็นถึงกระแสการเปลี่ยนแปลงในธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเรียนรู้ และปรับตัวตาม ได้แก่
1. การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวสูงอายุที่มาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งเพิ่มสัดส่วนจาก 15% ในปี 2011 เป็น 19% ในปี 2015 ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง โดยมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 9% อีกทั้งยังใช้เวลาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ยาวกว่าโดยเฉลี่ยราว 1-2 วัน โดยแนวทางที่ภาคธุรกิจสามารถนำมาปรับใช้คือ การสร้างความร่วมมือกับธุรกิจที่เกื้อหนุนกัน ช่วยให้สร้างมูลค่าเพิ่ม (synergy) แก่ธุรกิจได้มากขึ้น เช่น การจับมือร่วมกันระหว่างธุรกิจที่พักและธุรกิจบริการสุขภาพเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ได้ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น
2. พฤติกรรมการท่องเที่ยวและการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปอันเป็นผลจากการพัฒนาการทางด้านดิจิทัล ส่งผลให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องเน้นการสร้างแบรนด์ผ่านสื่อออนไลน์ และการใช้สื่อออนไลน์ที่เหมาะสม (optimization) นอกจากนี้ ธุรกิจโรงแรมยังต้องเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ เช่น Airbnb ซึ่งมีการเติบโตระหว่างปี 2013 - 2016 ถึง 16 เท่าตัว ยิ่งส่งผลให้ ธุรกิจโรงแรมในไทยต้องยกระดับการให้บริการเพื่อเสริมจุดแข็งในการแข่งขัน และ
3. การแข่งขันระหว่างประเทศในการส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนปรนกฎระเบียบการออกวีซ่า และการลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะประเทศในแถบตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ สหรัฐอาหรับ
เอมิเรตส์ เป็นต้น ธุรกิจการท่องเที่ยวไทยจึงต้องเร่งสร้างความแตกต่าง (differentiation) โดยการมุ่งเน้นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ เช่น การท่องเที่ยวเชิงผจญภัย จึงเป็นแนวทางที่ภาคธุรกิจควรพิจารณาเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันสูงในตลาด mass
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนอกจากจะช่วยขยายตลาดนักท่องเที่ยวสูงอายุแล้ว ยังสร้างโอกาสให้ธุรกิจใหม่ๆ ด้วยจำนวน
ผู้เกษียณอายุต่างชาติที่เพิ่มขึ้นด้วย จากการสำรวจผู้เกษียณอายุในต่างประเทศพบว่า ผู้เกษียณอายุมีแนวโน้มที่จะมองหาสถานที่เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณในที่ที่มีค่าครองชีพถูกลงมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น และประเทศไทยถูกจัดเป็นประเทศจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ดังจะเห็นว่าปัจจุบัน ประเทศไทยได้รับความนิยมจากผู้สูงอายุทั้งชาวญี่ปุ่น และยุโรป ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ทางตรง ได้แก่ ธุรกิจการให้บริการที่พักระยะยาว ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้สูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2020 รวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะมีตลาดชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น เป็นต้น
นอกจากนี้ สัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตัวเองมากขึ้นอันเนื่องจากความสะดวกด้านอินเทอร์เน็ตและดิจิทัล ยังก่อให้เกิดโอกาสสำหรับธุรกิจบริการใหม่ๆ กล่าวคือ สื่อออนไลน์ทำให้การท่องเที่ยวด้วยตัวเองมีความสะดวกมากขึ้น และทำให้เกิดวัฏจักรของพฤติกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งเริ่มต้นจาก dreaming – planning – booking – experience – sharing และการแชร์ประสบการณ์ท่องเที่ยวนี่เองที่ช่วยจุดประกายฝันของนักท่องเที่ยวคนต่อๆ ไป ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ธุรกิจบริการใหม่ๆ เกิดขึ้นและขยายตัวในวงกว้างได้ง่าย เช่น บริการรับฝากและจัดส่งกระเป๋าเดินทางระหว่างเมืองเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้น
กล่าวได้ว่า 3 กระแสการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยต้องเผชิญ ซึ่งธุรกิจควรปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่การดำเนินธุรกิจแบบเดิมมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
ข่าวเด่น