7 หน่วยงานภาครัฐ (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล)
จัดสัมมนาและระดมความคิด “นวัตกรรมและเครือข่ายการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ” รวมตัวสร้างเครือข่าย CARE FOOD มองอนาคตข้างหน้าไปด้วยกัน ตั้งเป้าจัดทำโรดแมปการพัฒนาเทคโนโลยี กำหนดทิศทางการวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในสังคมสูงวัยของประเทศไทยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนการให้ทุนวิจัย และผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผู้ประกอบการสามารถผลิตและจำหน่ายได้จริงเชิงพาณิชย์ โดยเครือข่าย CARE FOOD มุ่งมั่นขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพาณิชย์สู่เป้าหมายรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยอย่างสมบูรณ์แบบในปี 2564 ร่วมกัน
ดร.จันทรวิภา ธนะโสภณ รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า “สกว. และหน่วยงานเครือข่าย Care Food มีเป้าหมายร่วมกันในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็น แล้วใช้กลไกของแต่ละหน่วยงานสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้สูงอายุของประเทศ โดย สกว. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยจะนำโรดแมปที่ได้จากการระดมความเห็นของภาคเอกชน นักวิจัย และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ใช้เป็นทิศทางการสนับสนุนและบริหารจัดการทุนวิจัย
โดยเริ่มผลักดันตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้พื้นฐานผ่านความเข้มแข็งของเครือข่ายนักวิจัยคุณภาพสูงของ สกว. การพัฒนากำลังคนระดับปริญญาโทและเอกในสาขาที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงการวิจัยเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิตจริงภายใต้กรอบการสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่ฝ่ายอุตสาหกรรม สกว. กำลังดำเนินงานอยู่ เพื่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเชิงพาณิชย์และเหมาะสมกับผู้สูงอายุในแต่ละกลุ่ม ซึ่งความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมครั้งนี้ จะเป็นกลไกหนึ่งในการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการก้าวสู่สังคม Aging Society ต่อไป”
ดร.ฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า “ในการดำเนินโครงการ “การวิจัยพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสังคมผู้สูงอายุ” สวทช. โดยโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) มีความตั้งใจเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยภาคอุตสาหกรรม เพื่อปรับกลยุทธ์เชิงธุรกิจและเตรียมพร้อมเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดใหม่ที่เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเลือกซื้อสูง ทั้งผู้สูงอายุ และผู้ดูแลผู้สูงอายุ และจะเป็นตลาดใหญ่ในอนาคต ด้วยการนำ “เทคโนโลยี” ร่วมกับ “การออกแบบ” มาใช้ในการผลิตอาหารจากวัตถุดิบทางการเกษตร ซึ่งประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตหลักอยู่แล้ว เครือข่าย CARE FOOD เป็นหนึ่งของความร่วมมือในการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาอาหารเพื่อสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยที่เกิดจากการบูรณาการหลายหน่วยงาน
ด้าน นางฉันทรา พูนศิริ รองผู้ว่าการฯ กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า “วว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผ่านมา วว. ได้จัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ (ศนอ. : InnoFood) ให้บริการวิจัยและพัฒนา วิเคราะห์ ทดสอบ คำปรึกษา บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีออกสู่เชิงพาณิชย์อย่างครบวงจรในรูปแบบ One Stop Solution โดยในด้านผลิตภัณฑ์อาหารฟังก์ชันและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึงวัตถุดิบจากธรรมชาติที่ให้ประโยชน์ทางด้านส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มของผู้สูงอายุเป็นหลัก
ขณะที่ นางสาวสุธีรา อาจเจริญ ผู้จัดการโครงการ Food Innopolis สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า “ในการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ มีความจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคม และสภาพการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอาหาร หรือส่วนผสมของอาหาร (ingredient) ที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุในช่วงวัยต่างๆ ผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาด้านสุขภาพ รวมทั้งอาหารที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ดังนั้น Food Innopolis พร้อมจะเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการพัฒนาอาหารสุขภาพเพื่อสังคมผู้สูงอายุ CARE FOOD โดยเฉพาะในด้านการส่งเสริม สนับสนุน และแก้ปัญหา RDI โดยจะใช้ platform ต่างๆของ Food Innopolis ไม่ว่าจะเป็น FI academy, FI talent mobility, FI facilities รวมถึง FI global network มาช่วยส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป”
และ นางสาวกุลวรา โชติพันธุ์โสภณ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์กรมหาชน) (สวก.) กล่าวเสริมว่า “สวก. ได้รับมอบหมายจากเครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอบช.) ให้บริหารจัดการทุนวิจัยกลุ่มเรื่องอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าและความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและการค้า โดยหนึ่งในกรอบงานวิจัย คือ เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับกลุ่มวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรัง เช่น โรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต และหรือผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการกลืนและการบริโภค เป็นต้น ซึ่ง สวก. มีเป้าประสงค์คือ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับกลุ่มทุกวัยมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมกับแต่ละกลุ่มวัย ปลอดภัย และได้มาตรฐานสำหรับผู้บริโภค รวมทั้งพร้อมผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์”
ทั้งนี้ เครือข่าย CARE FOOD จะดำเนินงานร่วมกันภายใต้แนวคิด “Health Food for Good Health” โดยในงานสัมมนาและระดมความคิดครั้งนี้ นอกจากจะมีการเสวนา จัดทำโรดแมป แบ่งกลุ่มระดมความคิดตามประเภทของกลุ่มผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงตามความต้องการแล้วนั้น ภายในงานยังมีการนำเสนอตัวอย่างผลงานวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อผู้สูงอายุมากกว่า 30 ผลงาน อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารผู้สูงอายุที่มีภาวะอ้วนลงพุง สารสกัดจากลูกเดือยต้านมะเร็ง อาหารข้นหนืดตำรับไทยสำหรับผู้สูงอายุที่กลืนลำบาก ผลิตภัณฑ์อาหาร Low GI และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนผสมของเอนไซม์ที่ช่วยย่อย เป็นต้น ยังมีตัวอย่างสินค้าอาหารสำหรับผู้สูงอายุจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เห็นเป็นไอเดีย นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ ระหว่างผลงานวิจัยที่พร้อมถ่ายทอดกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดการต่อยอดผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ต่อไป
ข่าวเด่น