กพท. ระบุ "ไทยแอร์เอเชีย - การบินไทย" ไม่น่าห่วง คาดได้ "เอโอซี" ใหม่เดือน เม.ย.นี้ ขณะที่ 4 สายการบิน ถอดใจไม่ไปต่อ พร้อมมั่นใจ "ปลดธงแดง" ได้
การแก้ปัญหาความปลอดภัยด้านการบินของไทยเริ่มมีสัญญาณที่สดใสมากขึ้น นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการบินพลเรือน ซึ่งมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานว่า ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบความก้าวหน้าการตรวจสอบ 23 สายการบิน เพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (รีเอโอซี) ซึ่งขณะนี้มอบเอโอซีให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์สแล้ว
ส่วนสายการบินไทยแอร์เอเชียอยู่ขั้นตอนที่ 4.2 การตรวจภาคปฏิบัติ คาดว่าจะได้เอโอซีต้นเดือน เม.ย.60 สายการบินไทยกำลังเข้าสู่ขั้นตอน 4.2 คาดว่าจะได้เอโอซีภายในเดือน เม.ย.นี้
ขณะที่สายการบินนกสกู๊ต แอร์เอเชียเอ็กซ์ และไทยสมายล์ อยู่ขั้นตอนที่ 4.1 การตรวจสำนักงาน สายการบินโอเรียนไทย เคไมล์ และนกแอร์ อยู่ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบเอกสาร อีก 14 สายการบิน หลังจากเปิดให้แจ้งความจำนงการเข้ารับการตรวจเข้ามาภายในวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า มี 9 สายการบินที่แจ้งเข้ามา ซึ่งเรียงตามจำนวนขนส่งผู้โดยสาร ได้แก่ สายการบินไทย ไลอ้อน เมนทรี, สบายดี แอร์เวย์ส, สยามแอร์ ทรานสปอร์ต, เอ็มเจ็ท, เอซี เอวิเอชั่น, ไทยฟลายอิ้ง, สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง, วีไอพี เจ็ทส์ และเอช เอส เอวิเอชั่น ส่วนเวียตเจ็ทแอร์ แจ้งเข้ามาภายหลังวันที่ 28 ก.พ. ทาง กพท.จัดคิวให้เข้ารับการตรวจในลำดับสุดท้าย
สำหรับ 4 สายการบินที่ไม่แจ้งความจำนงเข้ามา ได้แก่ เอเชีย แอตแลนติก, เจ็ทเอเชีย, แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น และกานต์แอร์ ซึ่ง กพท.จะจัดคิวไว้ให้เช่นกัน โดยวันที่ 4 เม.ย.นี้ กพท.จะเชิญ 14 สายการบินมาชี้แจงทำความเข้าใจ โดยแจ้งให้ทราบว่า วันที่ 30 มิ.ย.นี้ กพท.จะยื่นเรื่องให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) เข้ามาตรวจซ้ำอีกครั้ง เพื่อให้ประเทศไทยได้รับการปลดธงแดง ดังนั้นภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ หากสายการบินใดยังไม่ได้รับเอโอซี จะต้องหยุดให้บริการการบินระหว่างประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไปจนกว่าจะได้เอโอซี หรือประเทศไทยปลดธงแดงได้
อย่างไรก็ตาม สำหรับสาเหตุที่ 4 สายการบินไม่แจ้งความจำนงเข้ารับการตรวจเข้ามานั้น อาจจะยังไม่พร้อม เพราะตามกำหนดการเดิมกระบวนการรีเอโอซีทั้ง 23 สายการบินจะแล้วเสร็จเดือน ม.ค.2561 แต่เมื่อ กพท.เลื่อนกำหนดให้แล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.60 จึงทำให้บางสายการบินเตรียมตัวไม่ทัน และอาจถอดใจ ซึ่งหลังจากนี้สายการบินต้องชะลอขายตั๋วโดยสาร และเตรียมแผนขนย้ายผู้โดยสารที่จองตั๋วมาแล้วว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
ขณะเดียวกัน กพท.ยังรายงานให้ที่ประชุมทราบผลการรายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการบินให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่าทราบ ซึ่งเอียซ่ามีความพอใจในความก้าวหน้าของไทย และแจ้งว่าไทยมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยจะนำรายงานครั้งนี้เข้าสู่การประชุมคณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางการบินของสหภาพยุโรปในเดือน พ.ค.เพื่อพิจารณามาตรฐานด้านการบินของไทย ซึ่งปกติจะมีการพิจารณาทุก 6 เดือน คาดว่าการพิจารณารอบเดือน พ.ค.นี้ จะไม่มีรายชื่อประเทศไทยที่ถูกห้ามทำการบินไปสหภาพยุโรป
ข่าวเด่น