เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รมว.พลังงานติดตามโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเขื่อนจุฬาภรณ์ กฟผ. ติดตามความก้าวหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ เพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน ขับเคลื่อนสู่ยุคพลังงาน 4.0 มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน


พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และคณะผู้บริหารกระทรวงพลังงาน เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของเขื่อนจุฬาภรณ์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งติดตามความก้าวหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ  โดยมี นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. นำชม ณ เขื่อนจุฬาภรณ์ อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการบริหารจัดการภาคพลังงานของประเทศนั้น กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว เพื่อให้ภาคพลังงานมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยังยืน โดยในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน และเป็นหน่วยงานหลักที่ดำเนินภารกิจสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพลังงานในการสร้างความมั่นคงให้กับภาคพลังงานไฟฟ้าของประเทศมาโดยตลอด ที่ผ่านมา กฟผ. ได้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองนโยบายพลังงาน 4.0 ของกระทรวงพลังงาน ที่ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า
 
 
สอดคล้องตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) และแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) สำหรับเขื่อนจุฬาภรณ์ มีจำนวน 2 โครงการ คือโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนจุฬาภรณ์ กำลังผลิตติดตั้งรวม 1.25 เมกะวัตต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2562 ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 4 ล้านหน่วย และโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนจุฬาภรณ์แบบสูบกลับ กำลังผลิตติดตั้งรวม 800 เมกะวัตต์ มีแผนจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2564 คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2569 ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละประมาณ 1,900 ล้านหน่วย ถือเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งที่ 2 ถัดจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองชลภาวัฒนาแบบสูบกลับ จังหวัดนครราชสีมา โดยยึดแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดอย่างยั่งยืน และช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
 
 
นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลา 43 ปีที่ผ่านมา เขื่อนจุฬาภรณ์ได้อยู่คู่กับชุมชนและสร้างประโยชน์สุขให้แก่ประชาชนในจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะในพื้นที่ชุมชนทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 7 หมู่บ้าน 30,000 กว่าครัวเรือน ทั้งในด้านชลประทาน อุปโภคบริโภค เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บรรเทาอุทกภัย การประมง และผลพลอยได้จากการระบายน้ำที่นำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนโดยรอบผ่านโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการ “เยี่ยมยามถามข่าว ชุมชนลุ่มน้ำพรม-เชิญ” โครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎร และการจัดตั้งศูนย์สาธิตโครงการชีววิถีเขื่อนจุฬาภรณ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น
          
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 มี.ค. 2560 เวลา : 20:10:57
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 10:31 pm