ในที่สุดคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้มีมติเปิดให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบครบห่วงโซ่อุปทาน โดยนางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กล่าวว่า BOI จะให้การส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า 3 แบบ ได้แก่ 1) กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานไฟฟ้า (Hybrid Electric Vehicle หรือ HEV) ผู้สนใจจะต้องยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และจะต้องเสนอเป็นแผนงานรวม (Package) ประกอบไปด้วย โครงการประกอบรถยนต์-โครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ ๆ ส่วนสิทธิประโยชน์จะได้รับการ ยกเว้น อากรขาเข้าเครื่องจักร
2) กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-in Hybrid Electric Vehicle หรือ PHEV) ผู้สนใจจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยจะต้องยื่นเป็นแผนงานรวม (Package) ประกอบไปด้วย โครงการประกอบรถยนต์และโครงการผลิตหรือใช้ชิ้นส่วนสำคัญ สิทธิประโยชน์ที่ได้รับประกอบไปด้วย การ ยกเว้น อากรขาเข้าเครื่องจักร การ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และหากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้นจะได้รับการ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี
3) กิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Bettery Electric Vehicle หรือ BEV) จะต้องยื่นคำรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยจะต้องเสนอแผนงานรวมเช่นกัน สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับประกอบไปด้วย การ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่ 5-8 ปี แต่หากมีการผลิตชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้นจะได้รับสิทธิประโยชน์ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 10 ปี
นอกจากนี้ BOI ยังให้การส่งเสริมกิจการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Bus) โดยขอรับการส่งเสริม ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ต้องเสนอโครงการเป็นแบบแผนงานรวม สิทธิประโยชน์จะได้รับการ ยกเว้น อากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี หากมีการผลิต/ใช้ชิ้นส่วนสำคัญมากกว่า 1 ชิ้นจะได้รับการ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นชิ้นละ 1 ปี รวมแล้วไม่เกิน 6 ปี แต่กิจการนี้หากผู้ประกอบการSMEs ไทยมีศักยภาพที่จะผลิตได้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการส่งเสริมSMEs ด้วยการ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่าเกณฑ์ปกติอีก 2 ปี กิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า จะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ด้วยการเสนอแผนการจัดหาอุปกรณ์/ชิ้นส่วน และแผนพัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ (EV Smart Charging System) จะได้รับการ ยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี
ขณะที่นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า แพคเกจที่ออกมาเชื่อว่ามีนักลงทุนสนใจการลงทุนแน่นอน คาดว่าไทยจะได้เห็นการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV ครบวงจร และมีรถออกมาวิ่งบนท้องถนนได้ภายในปี 2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า และอีก 10 ปีข้างหน้าและในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเห็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของยอดขาย อย่างไรก็ตามมาตรการจากBOI เป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่วันที่ 28 มี.ค. นี้ รัฐบาลจะนำเสนอแพคเกจรถยนต์ EV แบบเต็มแพคเกจให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาอีกครั้ง
โดยจะเป็นส่วนเกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน อาทิ มาตรการภาษีนำเข้าชิ้นส่วนและตัวรถของกรมสรรพากร โครงสร้างภาษีรถยนต์ของสรรพสามิต ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ การกำหนดพื้นที่ปลอดมลพิษในจังหวัดต้นแบบที่จะใช้รถยนต์ EV นำร่องและโปรโมต รวมถึงการกำจัดซากแบตเตอรี่ที่ทางกรมมลพิษต้องเข้ามาช่วย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ในฐานะโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า บอร์ดบีโอไอที่เห็นชอบแพคเกจการส่งเสริมการลงทุนไฟฟ้า โดยมาตรการทั้ง 3 กลุ่ม ถือเป็นมาตรการที่น่าสนใจมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนของเอกชน และนับเป็นการปูพื้นฐานที่ดี เพื่อให้ประชาชนเริ่มรับรู้รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมผสาน คือรถยนต์ไฮบริดที่ใช้ได้ทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน และรัฐอาจจะมีมาตรการให้นำเข้ามาใช้ในรถยนต์โดยสารสาธารณะที่สามารถชาร์จไฟในอู่ได้ทันที ซึ่งทำให้ภาพรวมมีการปรับตัวทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ เหมือนกรณีที่เราเปลี่ยนการเติมน้ำมันเบนซินมาเป็นแก๊สโซฮอล์ E 85 ทุกอย่างก็ต้องค่อยๆเริ่ม
ข่าวเด่น