ก.ล.ต. เปิดให้ผู้สนใจร่วมแสดงความคิดเห็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นที่ออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (หุ้น IPO) ให้กับผู้มีอุปการคุณและบุคคลที่มีความสัมพันธ์ของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ (related persons – RP) เพื่อให้มีการกระจายหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนทั่วไปอย่างเพียงพอ ไม่กระจุกตัวกับกลุ่มบุคคลใด จนทำให้ควบคุมปริมาณหุ้น IPO ได้ง่ายและนำไปสู่การสร้างราคาหุ้น
ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พบว่า การซื้อขายหุ้น IPO ในหลายกรณีมีความร้อนแรง โดยราคาซื้อขายหุ้น IPO ในช่วงแรกที่เข้าจดทะเบียนสูงกว่าราคา IPO มาก ส่วนหนึ่งเกิดจากหุ้นที่จัดสรรในช่วง IPO กระจุกตัวมากในกลุ่ม RP ถึงร้อยละ 40-50 ของจำนวนหุ้นที่เสนอขาย ซึ่งทำให้สามารถควบคุมปริมาณหุ้นจนนำไปสู่การสร้างราคาหุ้นสูงได้ง่าย นอกจากนี้ พบว่ามีรายชื่อผู้มีอุปการคุณซ้ำกันในการทำ IPO ของบริษัทที่อยู่ต่างอุตสาหกรรมกัน ซึ่งการรายงานผลการขายก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นผู้มีอุปการคุณของบริษัทที่แท้จริง ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงเกณฑ์การจัดสรรหุ้น IPO และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นในหลักการและร่างประกาศในปี 2559 ซึ่งภาคเอกชนได้มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อให้การจัดสรรหุ้น IPO ให้กับผู้มีอุปการคุณและ RP ของบริษัทมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ในครั้งนี้ ก.ล.ต. จึงได้นำข้อเสนอแนะมาปรับปรุงและจัดทำเป็นร่างประกาศ และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง โดยประเด็นที่ได้ปรับให้มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติมากขึ้น อาทิ
- ปรับปรุงนิยามของ “ผู้มีอุปการคุณ” เป็น บุคคลที่สร้างประโยชน์อย่างต่อเนื่องหรือชัดเจนให้กับบริษัท
- กำหนดสัดส่วนการจัดสรรให้ผู้มีอุปการคุณไม่เกินร้อยละ 15 ของหุ้น IPO โดยเมื่อรวมกับส่วนที่จัดสรรให้ RP และพนักงานของบริษัทและบริษัทย่อยแล้วไม่เกินร้อยละ 25 ของหุ้น IPO
- ผู้บริหารสูงสุดของบริษัทมีหน้าที่จัดทำรายชื่อผู้มีอุปการคุณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริษัทอนุมัติ และนำส่งรายชื่อและระบุลักษณะการมีอุปการคุณต่อสำนักงานพร้อมกับรายงานผลการขาย
- แก้ไขระยะเวลาการรายงานผลการขายหุ้น IPO จากเดิมที่เสนอภายใน 10 วันเป็นภายใน 30 วัน นับแต่วันปิดการเสนอขายหุ้น
ข่าวเด่น