นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในการประชุมหารือระหว่างคณะผู้แทนเกาหลีใต้นำโดย มร. ยอง–ซับ จู ผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานส่งเสริม SME ของเกาหลี (Small and Medium Business Administration - SMBA) และคณะผู้แทนไทยซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานหลักในการส่งเสริมเอสเอ็มอี ได้แก่ ดร.สมชาย หาญหิรัญ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผู้แทนสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ฯลฯ
โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะจัดให้มีกรอบความร่วมมือในรูปแบบคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ซึ่งจะมีการประชุมกันทุกๆ ปี เพื่อหารือมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางการค้า การลงทุน การร่วมทุน และแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีระหว่างเอสเอ็มอีทั้งสองประเทศ โดยการประชุมคณะกรรมการร่วมที่จะจัดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศเกาหลี จะประกอบด้วย 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีสำหรับ SMEs 2. ความร่วมมือด้าน Tech Startups 3. การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนจากเกาหลีใต้เข้ามามีส่วนร่วมในระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor – EEC
ในการนี้ ฝ่ายไทยและเกาหลี ได้ร่วมลงนามใน MOU 2 ฉบับ โดยฉบับแรก เป็นการลงนาม ระหว่าง สสว. และ SMBA เน้นความตกลงร่วมกันให้เกิดความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีไทย-เกาหลี ผ่านแนวทางการร่วมกันจัดตั้ง Thailand-Korea Technology Exchanges Center (TKTEC) เพื่อช่วยผู้ประกอบการไทยให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลี ผ่านการร่วมลงทุน และรูปแบบต่างๆ ของการจับคู่ธุรกิจ โดยมีแผนในการผลักดัน เช่น กลุ่มอุตสาหกรรม S Curve กลุ่ม Hi-Growth SMEs และกลุ่ม Smart Farmer เข้าสู่ช่องทางกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ โดยผู้เชี่ยวชาญเกาหลีที่จะมาประจำที่ไทยและจะมีการคัดเลือกและวิเคราะห์ SMEs ไทย เพื่อไปสู่การจับคู่ธุรกิจทางเทคโนโลยีกว่า 100 คู่ ภายในเดือนพฤศจิกายน นี้
ส่วนกิจกรรมแรกของความร่วมมือ ที่จะมีการคิกออฟในเดือนมิถุนายน ศกนี้ เกาหลีจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาประจำที่ สสว. เพื่อมาอบรมในรูปแบบ Train the Trainers ให้กับผู้เชี่ยวชาญไทยที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือและวินิจฉัยปัญหาความต้องการด้านเทคโนโลยีกับ SMEs ไทย
ทั้งนี้ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมได้เน้นความสำคัญในการให้ความร่วมมือต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างจริงจังและมีความต่อเนื่อง โดยให้เริ่มการหารือหลักในการประชุมไปที่แนวทาง การจัดตั้งกลไกการทำงานในรูปแบบคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย (Joint Committee) โดยประกอบด้วย หน่วยงานจากทั้งสองฝ่ายที่รับผิดชอบงานส่งเสริม SME ที่ครอบคลุมหลายบริบท จะเข้าร่วมมาเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้เป็นกลไกหลักในการทำงานตามกรอบความร่วมมือตาม MOU ทั้งสองฉบับนี้ได้อย่างต่อเนื่อง
โดยความตกลงเรื่อง Joint Committee นี้ ได้ถูกระบุอยู่ใน MOU ฉบับที่สอง ระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ SMBA ส่วนเนื้อหาความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่ถูกรวมในไว้ใน MOU ทั้งสองฉบับนี้ ยังประกอบด้วย การเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศ ในด้านการเงิน Startup เทคโนโลยี การออกแบบ แรงงาน การค้า และการร่วมมือทางยุทธศาสตร์ด้านอื่นๆ การแลกเปลี่ยนนโยบายส่งเสริม SMEs และผู้ประกอบการ การร่วมกันประเมินผลกระทบของกฎระเบียบ และการลดขั้นตอนภาครัฐ การจัดกิจกรรมส่งเสริม Startup ในสาขายุทธศาสตร์ทางธุรกิจและการตลาด ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ SMEs และจะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม การจัดงานสัมมนาและการนำเสนอต่างๆ การหารือและการเจรจา โดยการมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการ บริษัทขนาดใหญ่ และองค์กรที่เกี่ยวข้องของคู่ตกลงทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม การฝึกอบรม และแบ่งปันทักษะความรู้เกี่ยวกับโครงการความร่วมมือสำหรับ SMEs ของทั้งสองประเทศ
ข่าวเด่น