ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เป็นประธานการประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบรายงานความก้าวหน้า การพัฒนาระบบบริการอุบัติเหตุ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients: UCEP) ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และให้สถานพยาบาลภาครัฐทุกแห่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และพร้อมรับย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหลัง 72 ชั่วโมง ขณะเดียวกันให้กองทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพ ดำเนินการจ่ายชดเชยค่ารักษาพยาบาลแบบ Fee Schedule ตามหลักเกณฑ์แนบท้ายที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) กำหนด
นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ได้รายงานความก้าวหน้าในที่ประชุมบอร์ด สปสช. ว่า ในส่วนของ สปสช.ที่ดูแลผู้มีสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 48 ล้านคน สปสช.ทำหน้าที่เป็นศูนย์ในการรวบรวมและจำแนกข้อมูลส่งให้แต่ละกองทุนทำหน้าที่ในการจ่ายค่ารักษา โดย รพ.ที่รับการรักษาผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ตามนโยบายนี้ เมื่อรักษาผู้ป่วยสิทธิใด ก็จะส่งข้อมูลผู้ป่วยนั้นมาที่ สปสช. หลังจากนั้น สปสช.จะทำหน้าที่จำแนกว่าคนไข้คนนี้มีสิทธิอะไร ค่ารักษาเท่าไหร่ แล้วส่งเอกสารไปให้แต่ละกองทุนจ่ายเอง สปสช.ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์เรื่องการจ่ายเงิน แต่ทำหน้าที่เป็นเคลียริ่งเฮาส์ด้านข้อมูล
ที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการจัดเตรียมระบบร่วมกับ สพฉ.แล้ว โดยมีการเชื่อมข้อมูลผ่านโปรแกรม Pre Authorize ของ สพฉ.เข้าฐานข้อมูลของ สปสช.ผ่าน Web Service เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับหน่วยบริการในการบันทึกข้อมูลบริการผู้ป่วยเพื่อเบิกจ่าย ซึ่งเป็นไปตามบัญชีรายการและอัตราค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินวิกฤตแนบท้าย ตามมติคณะกรรมการสถานพยาบาล เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2560 จำนวน 2,975 รายการ ภายหลังจากที่ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้แทน 3 กองทุนสุขภาพ และผู้แทนโรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับหน่วยบริการ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้ยังได้ประสานไปยังโรงพยาบาลนำร่อง 100 แห่ง เพื่อเตรียมความพร้อมแล้วก่อนหน้านี้
ขณะนี้ สปสช.ได้เปิดระบบโปรแกรมบันทึกข้อมูลเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพื่อรับข้อมูลจากโปรแกรม Per Authorize จาก สพฉ.และการบันทึกข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีฉุกเฉินวิกฤตของทุกโรงพยาบาลแล้ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันที่หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีผลบังคับใช้
ข่าวเด่น