นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติคงราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เดือนเมษายน 2560 ไว้ที่ 20.96 บาท/กก. แม้สถานการณ์ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก (CP) ในเดือนเมษายน จะปรับตัวลดลง แต่เพื่อลดภาระการชดเชยของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเตรียมการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG เต็มรูปแบบในอนาคต จึงยังให้คงราคาขายปลีกไว้ในระดับเดิม
ทั้งนี้ ปรับลดอัตราเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลง 2.9139 บาท/กก. จากเดิมกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยที่ 6.6336 บาท/กก. เป็นชดเชยที่ 3.7197 บาท/กก. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้ (4 เม.ย.) เป็นต้นไป ซึ่งผลจากการปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ดังกล่าว ทำให้กองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG มีรายจ่ายลดลงจากเดือนก่อน ประมาณ 322 ล้านบาท จากเดิมมีรายจ่ายอยู่ที่ 444 ล้านบาท/เดือน ลดลงเหลือ 121 ล้านบาท/เดือน โดยฐานะสุทธิของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 2 เมษายน 2560 อยู่ที่ 40,155 ล้านบาท แบ่งเป็น ในส่วนของบัญชีก๊าซ LPG อยู่ที่ 6,514 ล้านบาท และในส่วนของบัญชีน้ำมันสำเร็จรูป อยู่ที่ 33,641 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ราคาก๊าซ LPG ตลาดโลก เดือนเมษายน 2560 ได้ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 80 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน มาอยู่ที่ระดับ 460 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยเดือนมีนาคม 2560 แข็งค่าขึ้นจากเดือนก่อน 0.1217 บาท/เหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 35.0676 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ราคา ณ โรงกลั่นที่อ้างอิงราคานำเข้า (Import Parity) ซึ่งเป็นราคาซื้อตั้งต้นก๊าซ LPG ปรับลดลง 2.9139 บาท/กก. จาก 20.5787 บาท/กก. เป็น 17.6648 บาท/กก.
นอกจากนี้ ที่ประชุม กบง. ได้รับทราบรายงานผลการจัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และรับทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 จำนวน 3 เวที ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดสงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งสิ้น 3,485 คน ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยสรุปภาพรวมพบว่า ส่วนใหญ่มีความเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ภาคใต้มีความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพิ่มเพื่อมารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น แต่สำหรับในประเด็นการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ยังคงมีความเห็นที่แตกต่างกัน และยังต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น เนื่องจากเห็นว่าภาคใต้มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงดังกล่าว
ขณะที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รายงานการคาดการณ์พลังงานไฟฟ้าไว้ที่ 603 GWh แต่เกิดขึ้นจริง 552.2 GWh ต่ำกว่าที่คาดการณ์ 50.8 GWh สืบเนื่องจากผลของพายุฤดูร้อนที่เกิดตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม 2560 ต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ทำให้อุณหภูมิลดลงมาอยู่ในระดับเฉลี่ย 33-34 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประมาณการการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (Peak) เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ที่คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 28,250 เมกะวัตต์ มีค่าที่เกิดขึ้นจริงในระบบของ กฟผ. อยู่ที่ระดับ 26,220 เมกะวัตต์ น้อยกว่าคาดการณ์ไว้ประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ และค่าที่เกิดขึ้นจริงในระบบของทั้ง 3 การไฟฟ้า อยู่ที่ระดับ 27,051 เมกะวัตต์.
ข่าวเด่น