การค้าตามแนวชายแดนยังมีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกของไทย ซึ่งแนวโน้มในปีนี้มีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) คาดการณ์ว่า ภาพรวมการค้าชายแดนระหว่างไทยและกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา-ลาว-เมียนมาเวียดนาม) ในปี 2560 จะขยายตัวจากปีก่อนประมาณ 5-10%
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวัง ได้แก่ คู่แข่งที่สำคัญ เช่น จีน ที่ขณะนี้เริ่มพัฒนาการผลิตแข่งขันกับไทยเป็นจำนวนมากขึ้น โดยอนาคตจีนอาจจะได้เปรียบไทยในเรื่องต้นทุนราคาที่อาจจะต่ำกว่าแม้เป็นสินค้าคุณภาพ เพราะมีการผลิตจำนวนมาก ดังนั้นผู้ประกอบการควรเรียนรู้และพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
สำหรับการค้าในช่วง 2 เดือนแรกของปี พบว่า การค้าชายแดนขยายตัวถึง 14% โดยมูลค่าการค้าชายแดนในกลุ่มซีแอลเอ็มวีเดือนมกราคม 2560 มีมูลค่าอยู่ที่ 1,833 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นอัตราการขยายตัว 6.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 มูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ 1,944 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็น อัตราการขยายตัว 22.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการค้าในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาอย่างไม่เป็นทางกาคาดว่า จะเติบโตในระดับใกล้เคียงกับ 2 เดือนแรก ส่งผลให้คาดการณ์ ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 14-15%
โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลให้การค้าชายแดนปีนี้เติบโตตามเป้าหมาย ส่วนใหญ่มาจากความต้องการใช้สินค้าของไทยในกลุ่มซีแอลเอ็มวี โดยเฉพาะสินค้าประเภทวัสดุก่อสร้างทุกประเภท เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มประเทศดังกล่าว เช่น กลุ่ม ปูนซีเมนต์ ฝ้า เมทัลชีท เป็นต้น
ประกอบกับสินค้าไทยยังติดตลาดในด้านมีคุณภาพสูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และใช้วิธีทำการตลาดเชิงรุกมากขึ้น ขณะเดียวกันที่ผ่านมา ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการใช้โมเดลพี่จูงน้องในการทำธุรกิจ โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ลงทุนในกลุ่มดังกล่าวอยู่แล้วมีการชักจูงและช่วยชี้แนะแนวทางให้รายเล็ก ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสในการเข้าไปขยายตลาดมากขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ รวมถึงการเชื่อมโยงเศรษฐกิจการค้าระหว่างไทยและเพื่อนบ้านให้มีความสะดวกมากขึ้น ส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุนของประเทศ
โดย นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท อมตะ คอปอร์เรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศมีความตื่นตัวต่อโครงการพัฒนาระเบียงพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีการสอบถามถึงความคืบหน้าของการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ในด้านการลงทุน สนใจลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังนั้น หาก พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ในช่วงกลางปีนี้ จะส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนด้านการลงทุนของประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับการแข่งขันของประเทศไทยให้กลับมามีศักยภาพมากขึ้น และอาจจะส่งผลให้เกิดการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมทางเศรษฐกิจ (จีดีพี )ในประเทศมากกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้อยู่ที่ 3.5 - 4%
สำหรับการเตรียมพร้อมของบริษัทในกลุ่มอมตะ เพื่อรองรับการลงทุน บริษัทมีที่ดินรองรับไว้อยู่แล้วกว่า 10,000 ไร่ ทั้งในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จ.ชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จ.ระยอง โดยจะทยอยพัฒนาแบ่งเป็นเฟส ภายใน 5 ปี เริ่มต้นจากปี 2560 ตั้งวางเป้าหมายการพัฒนา 1,000-2,000 ไร่ต่อปี ส่วนปี 2560 บริษัทตั้งเป้าหมายยอดขายที่ดินไว้ที่ประมาณ 1,000 ไร่
ข่าวเด่น