ความผันผวนของค่าเงินบาทเริ่มเห็นได้ชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา พร้อมทั้งยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอีกอย่างน้อย 2 ครั้งในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งการประกาศใช้นโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลล์ ทรัมป์ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนโลก
ขณะที่ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้สั่งให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ติดตามสถานการณ์ตลาดเงินอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนระดมทุนให้รอบคอบ
ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ได้เผยแพร่บทความ "รับมือบาทผันผวนด้วยการป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน" โดยระบุว่า ความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ และอาจรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกและนำเข้า เพราะแม้แนวโน้มการค้าของไทยเริ่มฟื้นตัว
บทความระบุด้วยว่า เป็นที่น่าตกใจว่า ผู้ส่งออกไทยกว่า 60% ไม่ทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการใช้เครื่องมือทางการเงินเลย แม้อาจมีลู่ทางที่ช่วยลดความเสี่ยงลงบ้าง เช่น การนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ ทำให้สามารถบริหารรายได้และรายจ่ายที่เป็นเงินสกุลเดียวกันได้ แต่ในภาพรวมการป้องกันความเสี่ยงของผู้ส่งออกไทยยังถือว่าค่อนข้างต่ำ จึงมีโอกาสสูญเสียรายได้จากความผันผวนของค่าเงิน
อีกทั้งผู้ประกอบการบางส่วนอาจไม่อยากป้องกันความเสี่ยง เพราะคิดว่าทางการจะคอยดูแลไม่ให้ค่าเงินเคลื่อนไหวมาก จึงไม่ควรขาดทุนกำไรไปบางส่วน เพื่อไปเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสี่ยง แต่ข้อเท็จจริงคือ ค่าเงินเกือบทั้งโลกมีความผันผวนมากขึ้น แม้ค่าเงินบาทโดยรวมผันผวนน้อยกว่าเงินภูมิภาคสกุลอื่นๆ แต่ก็เคลื่อนไหวผันผวนขึ้นกว่าช่วงที่ผ่านมา ตามสภาพของตลาดโลกที่ไม่อาจทัดทานได้
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ป้องกันความเสี่ยงน้อย คือ ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ซึ่งจำนวนหนึ่งยังขาดความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง หรืออาจเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของธนาคาร แต่จากข้อมูลพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยง พบว่าผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย อาจพยายามเก็งทิศทางค่าเงิน และเลือกที่จะไม่ป้องกันความเสี่ยงทั้งที่มีโอกาสทำได้ ดังนั้น จึงเห็นพฤติกรรมการป้องกันความเสี่ยงที่ขาดความต่อเนื่องจนเกิดอาการแห่ป้องกันความเสี่ยงในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งจะยิ่งกดดันค่าเงินและซ้ำเติมผลกระทบให้ผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น
โดยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างถูกวิธีและมีวินัย จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบราคาสินค้าที่ซื้อหรือขายในอนาคตได้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และช่วยให้การวางแผนธุรกิจในอนาคตง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การที่ผู้ประกอบการจะอยู่รอดได้ในระยะยาว จำเป็นต้องเกิดจากการปรับตัวและพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและการเติบโตของรายได้อย่างยั่งยืนโดยไม่มุ่งหวังกำไรจากค่าเงิน
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสาเร็จรูป กล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ สมาคมจะทบทวนเป้าหมายการส่งออกสินค้าอาหารสาเร็จรูปใน 6 กลุ่มสมาชิกของสมาคม ซึ่งอาจจะทำได้ไม่ถึง 2.1 แสนล้านบาทตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้เมื่อต้นปี เนื่องจากการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกสินค้าอาหารสาเร็จรูปใน 6 กลุ่ม โดยสมาชิกของสมาคม (เกือบ 200 บริษัท) ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.6% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไตรมาสแรกคาดจะติดลบไม่เกิน 3% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และมีความผันผวนสูง
ข่าวเด่น