ภาคธุรกิจโรงแรมกรุงเทพฯ ในระยะสั้นถึงปานกลางมีแนวโน้มที่ดี จากการที่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ห้องพักโรงแรมขยายตัวตาม ตามการรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล
นายแฟรงค์ ซอร์จิโอวานนี หัวหน้าฝ่ายวิจัย หน่วยธุรกิจบริการการลงทุนด้านโรงแรมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก เจแอลแอล กล่าวว่า “ในปีที่ผ่านมาภาคธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ มีผลประกอบการแข็งแกร่ง โดยกลุ่มโรงแรมมีแบรนด์ระดับ 3-5 ดาวมียอดการเข้าใช้ห้องพักเฉลี่ยประมาณ 75% ตลอดปี ส่วนช่วงต้นปีนี้ มีการรายงานข่าวดีเกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวออกมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เชื่อว่า แนวโน้มภาคธุรกิจโรงแรมกรุงเทพฯ จะยังคงอยู่ในเชิงบวก”
ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ 20.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าราว 7.5% ในขณะที่ผลการจัดอันดับเมืองที่น่าท่องเที่ยวที่สุดในโลก 100 เมืองโดยยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนลประจำปี 2560 เผยว่า กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่สองเป็นรองเฉพาะแต่ฮ่องกง นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ภาครัฐฯ ได้อนุมัติแผนการพัฒนาท่าอากาศยานด้วยเงินลงทุน 4 แสนล้านบาทในระยะ 10 ปี เพื่อยกระดับสถานภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่าอากาศยานของภูมิภาค โดยจะช่วยให้ท่าอากาศยานในไทยสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากถึง 277 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันกว่าเท่าตัว
นายแฟรงค์กล่าวว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาคธุรกิจโรงแรมของไทยได้รับอานิสงค์อย่างมากจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีปัจจัยเสริมสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มขึ้นของเส้นทางการบินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะของสายการบินต้นทุนต่ำที่เอื้อนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยได้ง่ายขึ้น”
“มีการประมาณการณ์ว่าในขณะนี้ จำนวนผู้โดยสารทางเครื่องบินในเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการขยายตัวรวดเร็วกว่าอเมริกาและยุโรป แต่การขยายตัวดังกล่าวมีแนวโน้มชะลอลงเนื่องจากท่าอากาศยานในหลายๆ ประเทศของเอเชียแปซิฟิกไม่มีขีดความสามารถในการรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มได้อีก ดังนั้น ประเทศไทยจึงนับว่าโชคดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาคจากการมีแผนการพัฒนาท่าอากาศยานไว้รองรับ” นายแฟรงค์กล่าว
สำหรับกรุงเทพฯ แผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานดังกล่าวครอบคลุมการขยายสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนอย่างมากในการช่วยให้จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกมาก โดยคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 45 ล้านคนในปัจจุบัน ในขณะที่สนามบินดอนเมืองจะสามารถรองรับผู้โดยสารเพิ่มจาก 30 ล้านคนเป็น 40 ล้านคน
“นอกเหนือจากการพัฒนาขีดความสามารถของท่าอากาศยานในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น คาดว่า การจัดแคมเปญส่งเสริมการท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมไปจนถึงการผ่อนปรนการขอวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยว และการขยายอายุวีซ่าสำหรับชาวต่างชาติเพิ่มจาก 1 ปีเป็น 10 ปีจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ดึงดูดให้มีชาวต่างชาติเดิมทางเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นข่าวดีสำหรับภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม ไม่เฉพาะแต่ของกรุงเทพฯ แต่ของทั้งประเทศ” นายแฟรงค์สรุป
ข่าวเด่น