นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค Economic intelligence Center ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า SCB EIC เตรียมปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าขยายตัว 3.3% ซึ่งจะมีการปรับประมาณการ GDP เพิ่มขึ้นในช่วงกลางปีนี้ หลังแนวโน้มอัตราการขยายตัวของภาคส่งออกในช่วงไตรมาส 1/60 อยู่ในระดับสูงที่ 4.9% มาจากการการส่งออกสินค้าอิเล็คทรอนิกส์ เพราะผู้ประกอบการหลายรายในต่างประเทศได้เร่งการสั่งซื้อสินค้า เนื่องจากไม่มั่นใจว่านโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่าจะมีมาตรการทางเศรษฐกิจออกมาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม มองว่าการส่งออกของไทยในไตรมาส 2/60 มีโอกาสชะลอตัวลง หลังจากการเร่งสั่งซื้อสินค้าอิเลคทรอนิกส์ที่เป็นปัจจัยหนุนหลักในไตรมาส 1/60 เริ่มลดลง แต่แนวโน้มการส่งออกของไทยก็น่าจะยังสามารถเติบโตได้อยู่จากเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น และทำให้ SCB EIC มีโอกาสปรับประมาณการการเติบโตของการส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นเติบโตไม่เกิน 2% จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกไทยในปีนี้เติบโต 1.5%
แม้ว่าการขยายตัวของการส่งออกไทยจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างมีนัยสำคัญให้กับการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้มีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าประมาณการณ์เดิมที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปีตาม แต่ก็ยังมีปัจจัยกดดันอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะปัจจัยภายนอกที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ยังไม่ชัดเจน การเลือกตั้งในยุโรปที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆเกิดขึ้น
ประกอบกับ ปัจจัยในประเทศเกี่ยวกับการลงทุนและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยไม่เต็มที่ โดยจะเห็นได้จากอัตราการว่างงานของไทยในเดือน มี.ค.60 เพิ่มขึ้นมาสู่ระดับ 1.3% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด จากสิ้นปีก่อนอัตราอยู่ที่ 1% มาจากการว่างงานของภาคก่อสร้าง เพราะการลงทุนโครงการต่างๆของภาครัฐยังไม่ได้มีมากนัก และภาคธุรกิจเอกชนยังชะลอการลงทุนและการจ้างพนักงานเพิ่ม หลังจากแนวโน้มเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้อัตราการใช้กำลังการลิตยังมีเพียงพอ โดยในเดือน มี.ค.60 อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคธุรกิจเอกชนอยู่ที่ 57% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทำให้ในปีนี้ SCB EIC ยังคงประมาณการการลงทุนเอกชนจะขยายตัว 1.4% ซึ่งการขยายตัวของการลงทุนเอกชนจะเห็นความชัดเจนในครึ่งปีหลัง หากภาครัฐเริ่มลงทุนมากขึ้น โดยงบประมาณใช้จ่ายของภาครัฐในปีนี้อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท
ส่วนค่าเงินบาท SCB EIC ได้ปรับประมาณการค่าเงินบาท ณ สิ้นปีนี้ มาอยู่ที่ 36.20 บาท/ดอลลาร์ จากเดิมที่ 37 บาท/ดอลลาร์ โดยมีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 36.00-37.00 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงที่ผ่านมาอ่อนค่ากว่าคาด เพราะนักลงทุนมีความกังวลต่อนโยบายทางการคลังที่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.ก็ตาม ปัจจัยดังกล่าวทำให้เงินบาทในช่วงไตรมาสแรกแข็งค่ากว่าที่คาด
ข่าวเด่น