เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เอกชนยังห่วงส่งออก แม้Q1/60 เติบโตสูงสุดรอบ 4 ปี


ตัวเลขการส่งออกเดือนมี.ค.ของกระทรวงพาณิชย์ที่ขยายตัวสูง 9.2%  เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน นับเป็นข่าวดีในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

 

 

สะท้อนจาก นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์  รองนายกรัฐมนตรี ที่เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2560 นี้ จะเติบโตได้มากกว่าไตรมาสสี่ของปี 2559 ที่เติบโต 3% แน่นอน  เพราะได้รับแรงหนุนทั้งจากการส่งออกที่ขยายตัวขึ้นมาก การลงทุนเอกชน รวมถึงการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง  แม้ว่ามีความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ก็ตาม ซึ่งรัฐบาลไม่เคยประมาท ถ้าเหตุการณ์พลิกผัน และตั้งรับให้ดี ก็เชื่อว่าจะรับมือสถานการณ์โลกได้แน่นอน
         
โดยการส่งออกไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ถึง 4.9% เข้าใกล้การคาดการณ์ทั้งปีที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5% หากการส่งออกแข็งแรงมากขึ้น ก็มั่นใจได้ว่า การลงทุนของเอกชนจะเพิ่มมากขึ้นแน่นอน  

 

ด้าน นายเชาว์ เก่งชน  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ก็ยอมรับว่า ตัวเลขส่งออกเดือนมีนาคม 2560 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนว่า เศรษฐกิจโลกดีขึ้น โดยทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ทั้งปีการส่งออกจะโตได้ 2% แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้มากกว่านี้ และถ้าโมเมนตัมทางเศรษฐกิจโลกไม่สะดุด ก็อาจจะปรับประมาณการส่งออกใหม่อีกครั้งหนึ่ง   

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด  คือ สถานการณ์ความตึงเครียดคาบสมุทรเกาหลี, ซีเรีย รวมถึง ประเด็นที่สหรัฐฯ ระบุว่าไทยเป็น 1 ใน 16 ประเทศ ที่ทำให้สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า ซึ่งคาดว่าผลจะออกมาในช่วงกลางปีนี้

 

ขณะที่ ศูนย์วิจัย ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC มองว่า มูลค่าการส่งออกไทยในไตรมาสแรกที่เติบโตกว่า 4.9%  ได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมัน และภาคอุตสาหกรรมโลกที่ฟื้นตัวเป็นสำคัญ ซึ่งสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน และสินค้าอุตสาหกรรมหลักเติบโต    

อย่างไรก็ตาม อีไอซียังคงคาดว่า  มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2017 จะขยายตัวเพียง 1.5% เนื่องจากอัตราการขยายตัวของราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะปกติตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป  ประกอบกับนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ เริ่มตึงเครียดมากขึ้น จากประเด็นที่ไทยเป็นหนึ่งใน 16 ประเทศคู่ค้าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกคำสั่งตรวจสอบและหามาตรการเพื่อลดการขาดดุลการค้า

ซึ่งอีไอซีคาดว่า จะเริ่มเห็นผลกระทบจากนโยบายดังกล่าวตั้งแต่ไตรมาส 3 เป็นต้นไป และกลุ่มสินค้าที่อาจได้รับผลกระทบ คือ 1) กลุ่มสินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ อาหารปรุงแต่ง ถุงมือยาง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ ที่ได้รับสิทธิ์ GSP คิดเป็น 23.2% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด 2) กลุ่มสินค้าที่เป็นเหตุให้สหรัฐฯ ขาดดุล เช่น คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยา' อัญมณีและเครื่องประดับ และ 3) สินค้าเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น ข้าว
         


 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 เม.ย. 2560 เวลา : 08:53:21
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 3:16 am