การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน เป็นนโยบายที่สำคัญอย่างยิ่งท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกดิจิทัล และยังเป็นการรองรับการพัฒนาประเทศไปสู่ Thailand 4.0 ซึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้สั่งการให้ขยายศักยภาพการลงทุนวางโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ สู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub) วงเงิน 5,000 ล้านบาท
โดยให้เร่งเฉพาะส่วนในพื้นที่ประเทศไทยก่อน เนื่องจากต้องเจรจากับประเทศที่จะต้องลากเคเบิลผ่าน โดยรัฐบาลจะใช้การลงทุนนี้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน ซึ่งในเดือน มิถุนายนนี้ จีนได้เชิญรัฐมนตรีหลายกระทรวงจากไทยไปร่วมประชุมด้วย โดยหากทำได้จะเพิ่มปริมาณการใช้ข้อมูลผ่านเคเบิลใต้น้ำที่ได้ลงทุนไปสนับสนุนให้ไทยเป็นฮับดิจิทัลของภูมิภาคได้เร็วขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบการดำเนินการตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Park Thailand รองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) บนพื้นที่ประมาณ 700 ไร่ ใน อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยจะเน้นให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจดิจิทัลควบคู่กับการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัลให้เป็นศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศ และศูนย์ข้อมูลของประเทศ
ขณะที่ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า เตรียมเรียก กรรมการผู้จัดการใหญ่ 2 หน่วยงาน ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เข้ามาหาหารือ กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง 2 องค์กร ในการควบรวมธุรกิจโครงข่ายระหว่างประเทศ หรือ บริษัท NGN และ บริษัท NGDC ที่เป็นการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ 2 องค์กรบริหารร่วมกัน ที่จะต้องทำให้ชัดเจนและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล
โดยโครงการระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศที่จะเป็นการให้ผู้บริการอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ หรือ IIG ที่มีการเชื่อมต่อระบบสื่อสัญญาณระหว่างประเทศผ่านประเทศไทย ดังนั้น 2 บริษัท จะต้องทำรายงานสรุปแผนงานทั้งหมดให้ละเอียดชัดเจน พื้นที่ไหนที่ยังไม่มีเส้นทางเคเบิลใต้น้ำผ่าน ให้เสนอสร้างเส้นทางเพิ่ม และเส้นทางเดิมที่มีอยู่แล้ว แต่ความสามารถในการรองรับการใช้งาน (คาพาซิตี้) ไม่เพียงพอให้ขยายเพิ่ม ซึ่งจะต้องสรุปให้แล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน เพื่อที่จะสรุปให้รัฐบาลรับทราบ และนำเข้าสู่ที่ประชุมดีอีต่อไป
นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า ทีโอทีได้สร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 ซึ่งเป็นเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 1 ใน 3 ระบบ ที่ ทีโอที ได้รับอนุมัติจาก คสช. เมื่อปี 2557 คืบหน้าโดยรวมมากกว่า 85% และมีกำหนดเปิดใช้งานในส่วนของเส้นทางประเทศไทย – สิงคโปร์ และไทย – ฝรั่งเศสในไตรมาสสองปี 2560 มีระยะทางของเส้นเคเบิลใยแก้วนำแสงทั้งสิ้นประมาณ 25,000 กิโลเมตร เชื่อมต่อระหว่างทวีปเอเชียตะวันออกตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำข้ามทวีปที่มีความจุสูงเส้นแรก ที่มีแนวเคเบิลเส้นทางหลักจากฮ่องกงพาดผ่านทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมีจุดขึ้นบก ณ จังหวัดสงขลา และเชื่อมต่อผ่านสายไฟเบอร์ออพติคภาคพื้นดิน(Thailand Crossing) ไปยังจังหวัดสตูลเพื่อเชื่อมต่อไปยังยุโรป เสมือนเป็น land bridge ทางด้านโทรคมนาคมระหว่างประเทศที่ช่วยลดระยะทางการเชื่อมต่อสื่อสารระหว่างเอเชีย และยุโรป
โดยระบบ AAE-1 เป็นระบบเคเบิลใต้น้ำที่มีระยะเวลาในการส่งข้อมูลระหว่างเอเชียตะวันออกและยุโรปต่ำสุด และยังเป็นระบบเคเบิลใต้น้ำเส้นแรก ที่ทำให้ประเทศไทยมีวงจรเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศที่เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต (Internet Hub) ที่สำคัญของโลก ได้แก่ฮ่องกง สิงคโปร์และ ฝรั่งเศสและยังเชื่อมต่อโดยตรงไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป รวม 18 ประเทศ ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลอินเทอร์เน็ตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN Digital Hub) ตามนโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน
ทั้งนี้ หลังจากที่ทีโอทีได้ลงทุนโครงระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ AAE-1 เฟสแรกแล้ว ทีโอทียังจะลงทุนในเฟสสอง เส้นทางไทย - ฮ่องกง ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้งานได้ราวไตรมาส 4/2560 โดยคาดว่าหลังจากที่ทีโอทีได้เปิดให้บริการภายปีนี้แล้วเสร็จจะมีรายได้ต่อปีราว 300 ล้านบาท ซึ่งการเปิดเส้นทางดังกล่าวสามารถลดต้นทุนได้ราวปีละ 500 ล้านบาท
ข่าวเด่น