นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนเมษายน 2560 ว่า สศค. ยังคงประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะสามารถขยายตัวได้ที่ 3.6% ต่อปี เท่ากับประมาณการครั้งก่อน แม้จะมีสัญญาณฟื้นตัวในภาคการส่งออกไตรมาสแรกที่ขยายตัวได้ดี และ สศค.ได้ปรับคาดการณ์ส่งออกทั้งปีว่าจะขยายตัว 3.3% จากเดิมคาดที่ 2.5% ทั้งนี้ สศค.คาดว่า GDP ไตรมาสแรกจะขยายตัวได้ดีกว่า 3.1% แต่ขอให้รอสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศตัวเลขที่แท้จริงอีกที
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจที่ 3.6% เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน ตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน
สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน
นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้นขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ต่อเนื่อง
นายกฤษฎากล่าวอีกว่า สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ 1.4% (โดยมีช่วงประมาณการที่ 1.1 -1.7%) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 39.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 9.2% ของ GDP
“ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความผันผวนของตลาดเงินโลก ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนทางการเมืองของยุโรป รวมทั้งสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ” นายกฤษฎากล่าว
ข่าวเด่น