น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนที่ผ่านมาสูงขึ้นร้อยละ 0.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากการปรับขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปสูงขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เดือนเมษายนลดลงร้อยละ 0.26 จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 15 ปี เนื่องจากปีที่ผ่านมาราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดได้รับผลกระทบจากภัยแล้งหนัก ทำให้ราคาสูงขึ้นมาก
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการดูแลราคาสินค้าและลดค่าครองชีพประชาชน และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า อัตราเงินเฟ้อเดือนเมษายนขยายตัวร้อยละ 0.16 สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากราคาผักสด น้ำมันขายปลีกในประเทศ รวมถึงข้าวสารเจ้า และอาหารสำเร็จรูปที่ราคาสูงขึ้น เพราะร้านค้าสิ้นสุดช่วงรายการส่งเสริมการขาย ส่งผลให้ 4 เดือนแรกปีนี้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยสูงขึ้นร้อยละ 1.03 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนเดือนพฤษภาคมแม้ว่า จะมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) 12 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟสูงขึ้น แต่จากการประเมินของกรมการค้าภายในพบว่ามีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นน้อยมากเพียงร้อยละ 0.0002 และมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.05 เท่านั้น
สำหรับเงินเฟ้อไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่าจะสูงขึ้นประมาณ 1% จากปัจจัยราคาน้ำมันในปีนี้สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และคนจะจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ผลจากหมดหนี้รถยนต์คันแรกแล้ว ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ส่งออกดีขึ้น และมีงบประมาณภาครัฐ 1.8 แสนล้านบาทกระจายสู่ต่างจังหวัด และปัจจัยภัยแล้งที่ดันราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ เงินเฟ้อก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้จะสูงขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ขยายกรอบคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2560 เป็น 1.5-2.2% จากเดิม 1.5-2.0% บนพื้นฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 35.5-37.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ข่าวเด่น