การตลาด
สกู๊ป "เบทาโกร" กางยุทธศาสตร์ 10 ปี บุกตลาดโลก


หลังจากภาครัฐออกมาประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้หลายธุรกิจออกมาปรับตัวอย่างจริงจัง เพื่อให้สอดรับกับนโยบายที่ภาครัฐประกาศออกมา ประกอบกับปัจจุบันคนไทยให้ความสนใจกับเทคโนโลยีมากขึ้น เห็นได้จากการใช้สมาร์ทโฟน ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีมากกว่าจำนวนประชากรที่มีอยู่ในประเทศไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้หลายธุรกิจพยายามพลิกแนวทางการดำเนินธุรกิจสู่ยุคดิจิทัล และหนึ่งในธุรกิจรายใหญ่ของไทยที่ออกมาประกาศทรานส์ฟอร์มธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อก้าวสู่ยุคดิจิทัล คือ เครือเบทาโกร

เมื่อตัดสินใจแน่วแน่ว่าจะพลิกโฉมธุรกิจสื่อดิจิทัล เครือเบทาโกรก็มีการใช้งบลงทุนก้อนโตถึง 1,000 ล้านบาท ในการปรับปรุงและพัฒนาระบบซอฟท์แวร์ให้มีความทันสมัย เพื่อปูพื้นฐานที่ดีต่อการขยายธุรกิจในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นระบบซัพพลายเชน กระบวนการผลิต โลจิสติกส์ หรือการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาทำตลาด

 

นายวสิษฐ แต้ไพสิฐพงษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือเบทาโกร ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเนื้อไก่ กล่าวว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในอีก 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ปี 2560-2563 บริษัทมีแผนที่จะปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่สู่การเป็นองค์กรดิจิทัล ด้วยการนำระบบอีอาร์พีซอฟต์แวร์มาใช้ในการบริหารจัดการทั้งระบบซัพพลายเชน เพื่อให้การผลิตสินค้า โลจิสติกส์ และพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ที่จะผลิตเข้ามาทำตลาดมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าของบริษัท

นอกจากนี้ เครือเบทาโกร ยังมีแผนที่จะใช้บิ๊กดาต้าในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อให้การทำตลาด และการพัฒนาสินค้าใหม่ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ถือว่าสอดรับยุทธศาสตร์ของเครือเบทาโกรในอีก 10 ปีข้างหน้า เริ่มจากปี 2563-2573 ที่ต้องการจะให้ธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศเติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10-15%

ในด้านของแผนการลงทุน เครือเบทาโกรมีแผนที่จะใช้งบปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท เดินหน้าขยายธุรกิจในเครืออย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงานอาหารแปรรูปจากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ หรือการสร้างฟาร์มคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับกับพ่อพันธ์แม่พันธ์ในปริมาณที่มากขึ้น ล่าสุดมีแผนที่จะสร้างโรงอาหารสำหรับสัตว์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสร้างโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เพื่อให้มีโรงงานครอบคลุมทั่วประเทศ หลังจากก่อนหน้าได้เปิดโรงงานไปแล้วที่ จ.สุราษฎร์ธานี

นายวสิษฐ กล่าวต่อว่า  ความท้าทายของการดำเนินธุรกิจในตอนนี้  คือ  การทำตลาดส่งออก  เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะผันผวน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ที่จำหน่ายในกลุ่มประเทศยุโรปมีราคายังไม่ดีมากนัก ซึ่งบริษัทประเมินว่าการส่งออกของกลุ่มเบทาโกรมีราว 7 แสนตัน/ปี จากภาพรวมการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์โดยรวม 7-8 ล้านตัน โดยจะเน้นการทำตลาดอาเซียนเป็นหลัก เพราะผลิตภัณฑ์ไก่สดมีข้อจำกัดจากระบบโลจิสติกส์ที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วอายุของสินค้าค่อนข้างสั้น



 

 

อย่างไรก็ดี หลังจากกลุ่มผลิตภัณฑ์เอสเพียว ได้แก่ เนื้อไก่ เนื้อหมู และไข่ ได้รับรางวัลเอ็นเอสเอฟ ซึ่งเป็นองค์กรด้านความปลอดภัยและสาธารณสุขที่ไม่แสวงหาผลกำไร ตอกย้ำเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มียาปฏิชีวนะในเนื้อไก่ ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกมีความมั่นใจในสินค้าของเครือเบทาโกรมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถขยายฐานลูกค้าไปในกลุ่มพรีเมียมได้เพิ่มขึ้น

นายวสิษฐ  กล่าวว่า เป้าหมายการส่งออกเนื้อไก่ของบริษัทในปีนี้ วางเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ประมาณ 10% จากปี 2559 ซึ่งมีปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 70,000 ตัน โดยสัดส่วนการส่งออก 15% เป็นเนื้อไก่สด และ 85% เป็นเนื้อไก่ปรุงสุก โดยในกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น 50%  ยุโรป 45% และตลาดอื่นๆ อีกประมาณ 5%

ทั้งนี้ จากราคาขายในยุโรปยังไม่สามารถขยับเพิ่มขึ้นได้ ส่งผลให้เครือเบทาโกรมีแผนที่จะขยายตลาดส่งออกไปในประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดสินค้าฮาลาล ขณะเดียวกันก็จะให้ความสำคัญกับตลาดเอเซีย เช่น สิงคโปร์ และฮ่องกง รวมไปถึงกลุ่มประเทศในสแกนดิเวีย ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการขายสินค้า Own Brand ได้แก่ แบรนด์ BETAGRO และ แบรนด์ S-Pure ให้มากขึ้นในช่องทางขายส่งและขายปลีก เพื่อให้สินค้าครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

นายวสิษฐ กล่าวปิดท้ายว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าและลูกค้า บริษัทได้มีการควบคุมมาตรฐานการผลิตไก่อย่างเข้มงวด ทั้งด้านคุณภาพ (Food Quality) และความปลอดภัยด้านอาหาร (Food Safety) โดยกำหนด มาตรฐานการประกันคุณภาพการผลิตไก่เครือเบทาโกร (ABCP: Assured Betagro Chicken Production) เพื่อควบคุมคุณภาพของกระบวนการผลิต โดยเน้นการจัดการคุณภาพด้านความปลอดภัยอาหาร สวัสดิภาพสัตว์ปีก และสิ่งแวดล้อม ให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบการผลิต สอดคล้องกับกฏระเบียบของภาครัฐและประเทศคู่ค้า รวมถึงข้อกำหนดของลูกค้า

 

พร้อมกันนี้ ยังได้ใช้ระบบ GIS (Geographic Information System) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มาใช้เก็บข้อมูลที่ตั้งฟาร์มไก่ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและประเมินผลกระทบของภาวะโรคที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง รวมทั้งนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (e-Traceability) มาใช้ในกระบวนการผลิตไก่ได้อย่างสมบูรณ์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์เนื้อไก่จากเบทาโกรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในประเทศและต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน หรือความปลอดภัย

ขณะเดียวกัน ยังให้ความสำคัญในการยกระดับการจัดการด้านแรงงานของอุตสาหกรรมอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยกำหนด “มาตรฐานแรงงานเบทาโกร” หรือ BLS (BETAGRO Labor Standard) ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายแรงงานไทย มาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน และแรงงานสัมพันธ์ เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านแรงงานของทุกบริษัทในเครือฯ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน โดยประกาศเริ่มดำเนินการทุกบริษัทเมื่อเดือนเม.ย.2558 ขยายไปสู่ซัพพลายเชนในเดือนพ.ย. 2558

นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายที่จะผลักดันมาตรฐานการจัดการแรงงานให้ดียิ่งขึ้นไปในอนาคต รวมทั้งนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีสำหรับฟาร์มและสถานที่ฟักไข่สัตว์ปีกในประเทศไทย หรือ GLP (Good Labour Practices) มาใช้บริหารจัดการด้านแรงงานร่วมด้วย

หลังจากเดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ควบคู่กับกับการขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง เครือเบทาโกรคาดการณ์ว่า ในปี 2563 นี้ จะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 1.4 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน โดยสัดส่วนรายได้หลักส่วนใหญ่ยังคงมาจากตลาดต่างประเทศ ส่วนรายได้ในปี 2573 จะอยู่ที่เท่าไหร่นั้น เครือเบทาโกร ยังไม่ขอเปิดเผย เนื่องจากยังไกลเกินไปที่จะคาดการณ์
แต่ดูจากแผนการดำเนินธุรกิจและการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในปีนี้ น่าจะช่วยให้ธุรกิจของเครือเบทาโกรมีรายได้เติบโตปีละไม่ต่ำกว่า 10-15% ได้ไม่ยาก ถ้าไม่มีปัจจัยลบที่ยากเกินควบคุมเข้ามาส่งผลกระทบต่อการขยายธุรกิจเสียก่อน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 พ.ค. 2560 เวลา : 15:58:50
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 11:30 am