น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสแรก คาดการณ์ว่าค้าปลีกน่าจะเติบโตได้ราว 3.0-3.2% แต่มีปัจจัยลบที่น่ากังวลหลายอย่าง โดยปัจจุบันกำลังเข้าสู่รอบไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ อาจทำให้การใช้จ่ายแผ่วลง ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ส่วนการลงทุนภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว และพึ่งพาแต่การลงทุนภาครัฐ ขณะที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เติบโตลดลงทั้งยอดขายและกำไร และหนี้ครัวเรือนที่ยังส่งสัญญาณจะทรงตัวในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนทำให้การบริโภคสินค้าหมวดคงทน และหมวดสินค้ากึ่งคงทนอาจต้องชะลอออกไป
ดังนั้นแม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้หมวดสินค้าต่างๆ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกไตรมาสแรกของปีนี้อาจเติบโตได้ 3.02% แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่สดใสเท่าที่ควร โดยหากเครื่องยนต์การใช้จ่ายภาครัฐชะลอลง ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกอาจต่ำกว่า 3% หรือในทางกลับกัน หากการใช้จ่ายภาครัฐมีประสิทธิภาพ ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกน่าจะมีโอกาสเติบโตถึง 3.2%
อย่างไรก็ดี แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้หมวดสินค้าต่างๆ เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทน ยังมีความไม่แน่นอน สอดคล้องกับข้อมูล Retail Landscape by The Nielson ที่แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคหมุนเวียนเร็ว ยังคงติดลบเล็กน้อยในไตรมาสแรก ส่วนหมวดสินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทน ทรงตัว และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว
โดยจะเห็นได้จากผลประกอบการของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรก ที่ติดลบ ส่งผลให้ผลประกอบการธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างเติบโตแบบถดถอย ส่วนธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องจากการเข้มงวดของการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน
ส่วนหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ แม้เติบโตราว 3% แต่ปริมาณการซื้อ (volume) ยังน้อยเมื่อเทียบกับทั้งหมวดสินค้า ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทน เติบโตเพียง 1.25%
อย่างไรก็ตาม จากสังคมผู้สูงอายุมีมากขึ้น ทางสมาคมจึงอยากเสนอให้ภาครัฐส่งเสริมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพได้มีโอกาส มีอาชีพ มีรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคค้าปลีก ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่อง จ้างงานในวงกว้าง ดังนั้นการที่มีจำนวนผู้สูงอายุมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีในการจ้างแรงงาน
ข่าวเด่น