ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (MRT) ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 20-21 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งมีนายเจิ่น ต๊วง แองห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เป็นประธานการประชุม เพื่อหาแนวทางความร่วมมือส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การประชุม MRT ครั้งนี้ เป็นโอกาสให้รัฐมนตรีด้านการค้าของสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ได้ร่วมกันหารือเพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งถือเป็นแรงผลักดันที่สำคัญที่จะช่วยส่งผลทางบวกต่อเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวและมีกระแสปกป้องทางการค้า โดยประเด็นหลักที่มีการพิจารณา ได้แก่ การส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืน ทั่วถึง และมีนวัตกรรม และการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี 2563 โดยเอเปคยังคงมุ่งสู่การค้าที่เสรีต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญยิ่งขึ้นกับการสร้างความมั่นใจว่าประโยชน์ของการค้าระหว่างประเทศจะกระจายไปยังประชาชนทุกระดับ โดยให้ความสำคัญต่อการสร้างโอกาสแก่สตรี เยาวชน และผู้ด้อยโอกาส
นายวินิจฉัย กล่าวว่า ได้แสดงทัศนะสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์และองค์การการค้าโลก การให้ความสำคัญกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการส่งเสริม MSMEs ให้เข้าสู่ตลาดโลก การสนับสนุนให้สมาชิกเดินหน้าการจัดทำแผนการทำงานสู่เขตการค้าเสรีของเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ตามข้อสั่งการผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคเมื่อปี 2559 รวมทั้งเน้นย้ำความสำคัญของความทั่วถึง ความยั่งยืน และการปฏิบัติได้จริง ในการจัดทำวิสัยทัศน์ของเอเปคหลังปี 2563 ภายหลังการบรรลุเป้าหมายการค้าการลงทุนที่เสรีและเปิด (เป้าหมายโบกอร์)
นายวินิจฉัย กล่าวเสริมว่า ผลลัพธ์ของการประชุม MRT ครั้งนี้ รัฐมนตรีการค้าเอเปคได้ให้แนวทางสำหรับเขตเศรษฐกิจเอเปคที่จะทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ ได้แก่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนการเจริญเติบโตที่ยั่งยืน ทั่วถึง และมีนวัตกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของ MSMEs ความมั่นคงทางอาหาร ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ และการดำเนินงานของเอเปคภายหลังปี 2563 นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประธานการประชุม ได้มีแถลงการณ์ประธานในเรื่องการสนับสนุนการค้าพหุภาคี เอเปคสู่ปี 2563 และ FTAAP
ในโอกาสนี้ ยังได้พบหารือสองฝ่ายกับรัฐมนตรีการค้าของฮ่องกง เพื่อติดตามและชี้แจงความคืบหน้าประเด็นการค้าระหว่างกัน นอกจากนี้ ยังได้พบกับกลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจสหรัฐอเมริกา-เอเปค (US-APEC Business Coalition) ซึ่งประกอบด้วยคณะนักธุรกิจจากบริษัทชั้นนำ อาทิ Cargill, Caterpillar, Visa, Time Warner และ Pfizer เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักธุรกิจของสหรัฐฯ ต่อเศรษฐกิจของไทย การส่งเสริมความสัมพันธ์ สนับสนุนและผลักดันให้การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหรัฐฯขยายตัวยิ่งขึ้น และได้มีการหารือกับนิวซีแลนด์ถึงโครงการความช่วยเหลือด้านปศุสัตว์ที่นิวซีแลนด์จะให้กับไทย ซึ่งฝ่ายนิวซีแลนด์จะส่งผู้เชี่ยวชาญมาหารือในรายละเอียดกับกรมปศุสัตว์ของไทยต่อไป
ข่าวเด่น