นายวินิฉัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้ร่วมประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 (3rd Intersessional Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) Ministerial Meeting) เมื่อวันที่ 21-22 พฤษภาคม 2560 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เร่งหารือความคืบหน้าการเจรจา RCEP เพื่อให้สามารถสรุปผลโดยเร็วตามที่ผู้นำได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้
นายวินิจฉัย แจ่มแจ้ง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ หัวหน้าผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรี RCEP สมัยพิเศษ ครั้งที่ 3 เปิดเผยว่า “รัฐมนตรีของทั้ง 16 ประเทศ ยังคงให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการเร่งสรุปผลการเจรจาโดยเร็วที่สุด ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน โดยเฉพาะแนวโน้มนโยบายการปกป้องตลาดที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยหวังว่าสมาชิกจะได้รับประโยชน์จากความตกลง RCEP ที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอย่างทั่วถึง”
นายวินิจฉัย กล่าวว่า รัฐมนตรีอาเซียนและคู่เจรจาตระหนักถึงความสำคัญในการประกาศผลสำเร็จของการเจรจา RCEP อย่างมีนัยสำคัญในปี 2560 ซึ่งเป็นปีที่อาเซียนครบรอบ 50 ปี และผลักดันให้ทุกประเทศร่วมกันเจรจาให้สำเร็จลุล่วง แม้ว่าขณะนี้อยู่ในช่วงการต่อรองที่สำคัญมาก มีเรื่องท้าทายมากมาย แต่ทุกประเทศสมาชิกต้องนำแรงผลักดันทางการเมืองไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ได้ข้อสรุปของการเจรจาโดยเร็ว โดยผ่านกระบวนการเจรจาอย่างเป็นมิตรและสร้างสรรค์
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการเจรจาในทุกประเด็น ซึ่งขณะนี้สมาชิกสามารถหาข้อสรุปได้แล้ว 2 บท คือข้อบทความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และข้อบทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในขณะที่บทอื่นๆ ก็กำลังเร่งหารือให้ได้ข้อสรุป และรัฐมนตรีมีความยินดีอย่างมากกับก้าวย่างสำคัญของการเจรจาเปิดตลาดเพิ่มเติม ทั้งด้านสินค้าและบริการ รวมถึงข้อผูกพันด้านการลงทุน แต่เห็นว่าสมาชิกยังต้องเร่งปรับปรุงข้อเสนอเพิ่มเติมต่อไป โดยให้คำนึงถึงความแตกต่างของระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศด้วย อีกทั้งเน้นย้ำว่าจะต้องบรรลุผลสำเร็จให้ได้อย่างสมดุลในทุกประเด็นเจรจา โดยขอให้สมาชิกทุ่มเทเพื่อเร่งเจรจาประเด็นที่เหลืออยู่และให้มีความคืบหน้าอย่างชัดเจนในการเจรจาแต่ละรอบ”
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560 ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ ได้เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง บมจ.ธนาคารกสิกรไทย และสำนักงานส่งเสริมการค้าแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งจะเป็นช่องทางขยายโอกาสทางการค้าของภาคธุรกิจของทั้งสองประเทศอีกด้วย
ข่าวเด่น