การตลาด
สกู๊ป ค้าปลีกลุ้นปัจจัยลบครึ่งหลังฉุดอุตสาหกรรมโตต่ำกว่าเป้า


แม้ว่าภาพรวมไตรมาสแรกจะมีสัญญาณบวกให้อุตสาหกรรมค้าปลีกไทยขยายตัวอยู่ที่ 3.02%  เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกก็ยังคงต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังต่อไป ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในครึ่งปีแรก มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร เพราะเม็ดเงินที่ภาครัฐอัดเข้าไปในระบบผ่านโครงการต่างๆ ยังไม่เห็นผลอย่างที่ควรจะเป็น จึงส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีมากนัก

จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว  หากภาครัฐมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณต่างๆแผ่วลง อาจส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีหลังเกิดการสะดุด และอาจมีการขยายตัวต่ำกว่า 3%  ซึ่งถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงสิ้นปีว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมค้าปลีกน่าจะมีการเติบโตได้อยู่ที่ประมาณ 3-3.2% หากภาครัฐเร่งออกมาใช้จ่ายงบ และทำการใช้จ่ายงบให้มีประสิทธิภาพ

น.ส.จริยา  จิราธิวัฒน์  ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์อุตสาหกรรมค้าปลีกครึ่งปีแรกมองว่าน่าจะเติบโตได้ที่ประมาณ  3.0-3.2%  เพราะจากการวิเคราะห์การเติบโตของภาคบริการ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง , ภาคการเงินการธนาคาร และภาคค้าปลีก  ในไตรมาสแรกพบว่า กำไรของสถาบันการเงินการธนาคารยังดีอยู่ แม้หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้และกำไรยังคงที่ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างยังเติบโตต่ำ เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 4-5 บริษัทที่ทั้งยอดขายและกำไรต่างก็ลดลง

อย่างไรก็ดี  หากพิจารณาในส่วนของภาคธุรกิจค้าปลีกพบว่า  มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากผลประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 4-5 บริษัท พบว่าการเติบโตส่วนใหญ่มาจากการขยายสาขา ในขณะที่การเติบโตจากสาขาเดิมมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
 

 
 
ทั้งนี้  แม้ว่าแนวโน้มธุรกิจค้าปลีกจะปรับตัวดีขึ้นตามภาพรวมเศรษฐกิจในไตรมาสแรก  แต่ก็ยังไม่มากพอที่จะทำให้หมวดสินค้าต่างๆเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ  เนื่องจากยังมีปัจจัยลบส่งผลกระทบกับสินค้าหลายกลุ่ม  หนึ่งในนั้น คือ หมวดสินค้าไม่คงทน   ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล Retail Landscape by The Nielson ที่แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในหมวด FMCG ยังคงติดลบเล็กน้อยในไตรมาส 1/2560 ส่วนหมวดสินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทน ยังคงทรงตัว และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว

น.ส.จริยา กล่าวต่อว่า  จากเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าแต่ละหมวดในไตรมาสแรกของปี 2560 โดยละเอียดไว้ดังนี้ คือ หมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตในอัตราที่ต่ำเพียง 1.25% ใน ไตรมาสที่ผ่านมา  เห็นได้ชัดจากผลประกอบการของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรกติดลบ ส่งผลให้ผลประกอบการธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างเติบโตแบบถดถอย ส่วนธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องมาจากการเข้มงวดของการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน ส่วนหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile & Camera) แม้เติบโตเพิ่มขึ้นราว 3% แต่ปริมาณการซื้อ (volume) ยังน้อยเมื่อเทียบกับทั้งหมวดสินค้า ส่งผลให้โดยรวม หมวดสินค้าคงทน เติบโตเพียง 1.25%

อีกหนึ่งหมวดสินค้าที่มีอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา คือ หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods) โดยในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมามีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ  2.3% ซึ่งปัจจัยที่ทำให้หมวดสินค้าดังกล่าวมีอัตราการเติบโตลดลง อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้หมวดสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง ยังคงเติบโตต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับประชาชนชาวไทยยังอยู่ในช่วงไว้อาลัย บรรยากาศการจับจ่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ดังจึงยังค่อนข้างซบเซา  อย่างไรก็ดี ด้วยความที่หมวดเครื่องกีฬาและสุขภาพยังเติบโตค่อนข้างมากตามเทรนด์ จึงทำให้การเติบโตในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทั้งหมดยังคงทรงตัว
 
 
สำหรับสินค้าที่รับผลกระทบน้อยสุดจากปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้น คือ  หมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods) เห็นได้จากภาพรวมในไตรมาสแรกที่หมวดสินค้าดังกล่าวยังสามารถเติบโตได้ที่ 3.4%  แม้ว่าจะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวช้า แต่ยังคงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานใหญ่ของกลุ่มผู้บริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้อัตราการบริโภคสินค้าหมวดนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ธุรกิจในหมวดสินค้าไม่คงทนเติบโตฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัยยะ สินค้าหมวดดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 68% ของดัชนีค้าปลีก

จากแนวโน้มที่ดูเหมือนจะไม่สู้ดีเท่าไหร่ในช่วงไตรมาสแรก  ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบต่อเนื่องในไตรมาส 2 ส่งผลให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลกับช่วงครึ่งปีหลัง  โดยปัจจัยลบที่น่าจับตามอง คือ การเบิกจ่ายปีงบประมาณของภาครัฐในช่วงไตรมาส 3 ที่มีแนวโน้มแผ่วลง  นอกจากนี้โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐก็ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม  ส่งผลให้การลงทุนภาคอกชนยังไม่ฟื้นตัว และยังคงพึ่งพาแต่การลงทุนภาครัฐ  ซึ่งจากปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์มียอดขายและกำไรที่เติบโตลดลง  เนื่องจากหนี้ครัวเรือนของผู้บริโภคยังส่งสัญญาณที่จะทรงตังในระดับ 80.2%  ทำให้อำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ

ปัจจัยลบที่รุมเร้าดังกล่าว หากภาครัฐมีการออกใช้งบต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อเชื่อว่าน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับภาคธุรกิจค้าปลีกที่น่าจะมีอัตราการเติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ  3-3.2%

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 พ.ค. 2560 เวลา : 21:33:02
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:43 pm