เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.พร้อมออกมาตรการหลัง "เงินบาท" แข็งค่าต่อเนื่อง


เงินบาทที่ยังปรับแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา แตะระดับ 34.05 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ หรือค่าแข็งขึ้นมากที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี  ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และภาคเอกชนเริ่มมีความกังวลมากขึ้น

 

 

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะนับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการอ่อนลงของเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆในภูมิภาค หลังการเผยแพร่รายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา ที่บ่งชี้ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) น่าจะ ยังอยู่ในแนวทางค่อยเป็นค่อยไป
         
นอกจากนี้ อีกส่วนเป็นผลจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งเกิดจากปัจจัยเฉพาะของไทย กล่าวคือ ข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีทิศทางโดยรวมดีขึ้น และการตีความถ้อยแถลงของ กนง. ว่า มีความพอใจกับการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทที่สอดคล้องกับภูมิภาคในช่วงก่อนหน้านี้ และ กนง. ลดความกังวลต่อแนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น ปัจจัยเฉพาะเหล่านี้ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วกว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาคอย่างชัดเจน
        

 

แต่ธปท.ยังจับตาสถานการณ์เงินทุนไหลเข้า โดยเฉพาะเงินทุนระยะสั้นที่อาจมีความผันผวนสูง ซึ่งทำให้เงินบาทผันผวนสูงขึ้นตามไปด้วย โดย ธปท.พร้อมจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เพื่อลดแรงจูงใจการนำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้นๆ ซึ่งแหล่งหนึ่งที่นักลงทุนต่างชาตินำเงินมาลงทุนหรือเก็งกำไรในระยะสั้น คือ พันธบัตร ธปท.

ดังนั้น ในเดือน มิ.ย.นี้ ธปท.ยังคงมีนโยบายลดยอดคงค้างพันธบัตรดังกล่าว เพราะแม้ปริมาณการออกใหม่จะคงไว้เท่ากับเดือน เม.ย.และ พ.ค. แต่ปริมาณการออกใหม่จะต่ำกว่าปริมาณที่ครบกำหนด โดยพันธบัตรอายุ 3 เดือน จะครบกำหนด 205,000 ล้านบาท ออกใหม่ 150,000 ล้านบาท ส่วนอายุ 6 เดือน จะครบกำหนด 166,179 ล้านบาท ออกใหม่ 150,000 ล้านบาท รวมพันธบัตร ธปท. อายุต่ำกว่า 1 ปี ลดลง 71,179 ล้านบาท


 

ด้าน นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก ระบุว่า ปัจจัยน่าเป็นห่วง คือ การแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับคู่แข่งสำคัญ ที่จะส่งผลต่อต้นทุนและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย ความเสี่ยงจากการเมืองระหว่างประเทศและการก่อการร้าย รวมทั้งการกีดกันทางการค้า

ทั้งนี้ สรท.จะเข้าไปพบ ธปท.ใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพื่อรายงานสถานการณ์ส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยเฉพาะหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาต่ำกว่า 34 บาทต่อดอลลาร์ จะมีผลต่อการรับออเดอร์สินค้าในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ของภาคเอกชน


บันทึกโดย : วันที่ : 30 พ.ค. 2560 เวลา : 15:29:17
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 7:45 am