การตลาด
สกู๊ป : ธุรกิจกระทิปรับแผนอิมพอร์ทมะพร้าวแก้เกมวัตถุดิบขาดตลาด


   จากปัญหาวิกฤตภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับก่อนหน้านี้ราคามะพร้าวไม่ดีเท่าที่ควร จึงทำให้เกษตรกรที่เคยปลูกมะพร้าวบางส่วนหันไปปลูกยางพาราทดแทน นอกจากนี้ จากการที่ต่างชาตินิยมบรโภคอาหารที่นำจากมะพร้าวมากขึ้น จึงทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะพร้าวได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ปัจจุบันผลผลิตมะพร้าวในประเทศเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด 

   เมื่อวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอที่จะนำมาผลิตสินค้า ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ผลิตกระทิ  และสินค้าแปรรูปจากมะพร้าวต้องปรับแผนการทำตลาด ด้วยการหันมาสั่งมะพร้าวจากต่างประเทศ  เพื่อชดเชยกับวัตถุดิบในประเทศที่มีผลผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

     นายอภิศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จำกัด กล่าวว่า  จากปัญหามะพร้าวในประเทศขาดตลาดที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทต้องหันนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เพื่อชดเชยวัตถุดิบในประเทศที่ไม่เพียงพอต่อการผลิตสินค้า  ซึ่งประเทศหลักที่บริษัทได้นำเข้ามะพร้าวมาเป้นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า คือ อินโดนีเซีย และเวียดนาม  

   นอกจากนี้  ยังมีการซื้อที่ดินจำนวน  200 ไร่ เพื่อปลูกต้นมะพร้าว  เนื่องจากการนำเข้ามะพร้าวไม่สามารถนำเข้าได้เป็นจำนวนมาก  เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องของโควต้า  นอกจากนี้  ภาษีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศยังอยู่ในระดับที่สูง คือ 54%  จึงทำให้บริษัทไม่สามารถนำเข้ามะพร้าวได้ครั้งละจำนวนมาก  ด้วยเหตุดังกล่าว  จึงทำให้บริษัทต้องหันมาซื้อที่ดิน เพื่อปลูกมะพร้าวด้วยตัวเอง  เพื่อลดปัญหาในเรื่องดังกล่าว  ซึ่งหลังจากปลูกคาดว่าอีก 4-5 ปี จึงน่าจะเก็บเกี่ยวผลผลิตจากต้นมะพร้าวที่ปลูกได้

   อย่างไรก็ดี   แม้ว่าบริษัทจะหันมานำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ และปลูกมะพร้าวด้วยตัวเอง เพื่อชดเชยวัตถุดิบภายในประเทศที่ขาดตลาด แต่วัตถุดิบที่ได้มาดังกล่าวก็ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด  ดังนั้นบริษัทจึงอยากให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าว  ด้วยการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูกมะพร้าวเพิ่มขึ้น  เพราะหากเปรียบเทียบราคาขายมะพร้าวกับราคาขายข้าวแล้ว  มะพร้าวมีราคาขายที่สูงกว่าค่อนข้างมาก  

   นายอภัศักด์  กล่าวต่อว่า  ราคามะพร้าวที่ขายในประเทศตอนนี้ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละประมาณ 18-19 บาท  ส่วนราคามะพร้าวที่นำเข้าจะมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ลูกละประมาณ 15 บาท  และถึงแม้ว่าราคามะพร้าวนำเข้าจะมีราคาถูกกว่าราคามะพร้าวที่ขายในประเทศ  แต่หากดูในด้านของคุณภาพสินค้าแล้ว  มะพร้าวที่ปลูกในประเทศจะมีคุณภาพดีกว่ามะพร้าวที่นำเข้าค่อนข้างมาก  ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายสนับสนุนในเรื่องของการปลูกมะพร้าว

สำหรับกลยุทธ์ทางการตลาดของเทพผดุงพรมะพร้าวในปีนี้จะเน้นไปที่  3  กลยุทธ์หลัก  คือ  1. เจาะตลาดทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์  เนื่องจากปัจจุบัน โลกออนไลน์มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันการโฆษณาประชาสัมพันธ์แบบดั้งเดิมก็ยังคงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเช่นกัน ฉะนั้นการใช้เครื่องมือทางการตลาดแบบผสมผสานจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อสร้างการรับรู้ในตราสินค้าให้ถึงทุกกลุ่มเป้าหมาย

ส่วนกลยุทธ์ที่ 2 คือ  การบุกตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อทั้งผู้บริโภคและคู่ค้าแบบต่อเนื่อง ผ่านการใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกัน โดยสำหรับตลาดภายในประเทศ จะเน้นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การผลิตรายการอาหาร   ตลอดจนการจัดโครงการเพื่อสังคมต่างๆ  และสำหรับตลาดต่างประเทศ จะเน้นการเข้าร่วมกิจกรรม ออกบูธและงานนิทรรศการต่างๆ อาทิ เทรดแฟร์ เพื่อสร้างความรู้จักในระดับนานาชาติ ควบคู่ไปกับการหาช่องทางเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ อยู่เสมอ

ขณะที่กลยุทธ์ที่  3 คือ  จับเทรนด์ และตามกระแสโลก อย่างเช่น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสเทรนด์รักสุขภาพและการออกกำลังกายถือเป็นกระแสโลกที่ผู้บริโภคให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม ทางเทพผดุงพรมะพร้าวจึงจับมือเป็นพันธมิตรกับทางสโมสรลิเวอร์พูล และจัดทำเป็นแคมเปญประชาสัมพันธ์อย่างเต็มรูปแบบ จนทำให้ผลิตภัณฑ์ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมากจากคู่ค้าและผู้บริโภค  ซึ่งหลังจากปรับแผนธุรกิจดังกล่าวคาดว่าสิ้นปีน่าจะมีรายได้เติบโตใกล้เคียงกับปี 2559 ที่เติบโตประมาณ 10%

ด้านนายณัฐพล วิสุทธิ์ไกรสีห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียติค อุตสาหกรรมเกษตร ผู้ผลิต แปรรูป และส่งออกผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวภายใต้ชื่อ โคโคแม็ก และกะทิอัมพวา กล่าวว่า ปัญหามะพร้าวขาดตลาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ในส่วนของบริษัทเองก็มีการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศเช่นกัน แต่จะเน้นการนำเข้าช่วงที่รัฐบาลเปิดเสรีเป็นหลัก เพราะจะได้ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าที่สูงถึง 54% ซึ่งช่วงเวลาที่รัฐบาลเปิดเสรีนำเข้ามะพร้าวจะอยู่ในช่วงเดือน พ.ย.-มี.ค.ของทุกปี โดยในส่วนของประเทศหลักที่บริษัทนำเข้ามะพร้าวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าในเครือ เช่น กระทิ น้ำมะพร้าว นมมะพร้าว คือ อินโดนีเซีย

ทั้งนี้  ในส่วนของแผนการทำตลาดในปีนี้ บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการนำเสนอสินค้าที่มีคุณภาพ พร้อมกับสร้างความต่างให้โดดเด่นให้กับสินค้า ด้วยการใช้นวัตกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์มะพร้าวที่สามารถเทียบเคียงคุณภาพกับธรรมชาติ เพื่อให้คนไทยได้บริโภคสินค้าที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมไปถึงการขยายช่องทางการจัดจำหน่าย โฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์และการส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็จะขยายฐานลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการต่อยอดวิจัยและพัฒนา (R&D) ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ  ต่อเนื่องถึงการบริหารจัดการ เพื่อใช้ทุกส่วนของมะพร้าวให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด  โดยสิ้นปีคาดว่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 20%


บันทึกโดย : วันที่ : 05 มิ.ย. 2560 เวลา : 14:56:23
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:38 pm