จากกรณีความขัดแย้งของประเทศในตะวันออกกลางที่ ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ และบาห์เรน ได้ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศกาตาร์ รวมทั้งปิดพรมแดนทั้งทางบก ทางอากาศ และทางเรือเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2560 โดยกล่าวหาว่ากาตาร์ให้การสนับสนุนกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงและอิหร่าน ซึ่งกาตาร์ได้ปฏิเสธข้อหากล่าวดังกล่าว โดยความขัดแย้งครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในรอบหลายปีของกลุ่มประเทศสมาชิกของคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC)
นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวว่า ได้รับรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองดูไบ ว่าผลกระทบต่อการค้าของไทยเบื้องต้นคือ การขนส่งสินค้าทางถนนผ่านทางดูไบไปกาตาร์จะไม่สามารถดำเนินการได้ แต่การส่งสินค้าทางอากาศจากประเทศไทยมายังกาตาร์ยังทำได้โดยใช้สายการบิน Qatar Airways ซึ่งบินตรงระหว่างกรุงเทพฯและกรุงโดฮา หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป การส่งออกของไทยมายังกาตาร์จะต้องส่งตรงเข้า Doha Port แทนการส่งผ่านดูไบ ในเบื้องต้น สินค้าไทยที่ส่งออกไปกาตาร์ที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ได้แก่ อัญมณี และผักผลไม้สด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้การขนส่งทางอากาศเป็นหลักอยู่แล้ว ส่วนรถยนต์ เครื่องปรับอากาศและตู้เย็น อาจจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากเพราะปัจจุบันใช้การขนส่งผ่านแดนจากดูไบ
เนื่องจากตัวเลขการค้าผ่านแดน (Transshipment) ระหว่างดูไบไปยังกลุ่มประเทศ GCC เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผยทำให้เป็นการยากที่จะระบุมูลค่าที่แน่นอนของการส่งออกของไทยผ่านดูไบไปกาตาร์ซึ่งเป็นตลาดสำคัญอันดับ 3 ของไทยใน GCC รองจากซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่สำหรับการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์นั้น ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งสินค้าตรงไปยังกาตาร์มีมูลค่า 102.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 21.43% โดยสินค้าส่งออก 5 อันดับแรกประกอบด้วย อัญมณี (มูลค่าส่งออก 4 เดือนแรก 27.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ), รถยนต์ (24.8 ล้านเหรียญฯ), เครื่องปรับอากาศ (16.2 ล้านเหรียญฯ), อาหารทะเลกระป๋อง (3.5 ล้านเหรียญฯ) และตู้เย็น (3.2 ล้านเหรียญฯ)
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า และโฆษกกระทรวงพาณิชย์ ชี้แจงผลกระทบในภาพรวมเศรษฐกิจการค้าจากกรณีดังกล่าวว่า ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในระยะสั้นอาจจะมีไม่มากนัก แม้ว่าจะเพิ่มความกังวลในประเด็นความร่วมมือในการลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (OPEC) อยู่บ้าง แต่เนื่องจากกาตาร์มีสัดส่วนการผลิตน้ำมันประมาณเพียง 6.4 แสนบาร์เรล ต่อวัน หรือ ร้อยละ 1.9 ของการผลิตน้ำมันรวมของ OPEC และตามข้อตกลงในการลดกำลังการผลิตน้ำมันนั้น กาตาร์จะต้องปรับลดกำลังการผลิตประมาณ 3 หมื่น บาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากกาตาร์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็จะทำให้ปริมาณผลผลิตน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 หมื่น บาร์เรลต่อวัน ถือว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสมดุลตลาดน้ำมันโลกอย่างรุนแรง
แต่ทั้งนี้ สนค. คาดว่ากาตาร์จะยังคงให้ความร่วมมือในการรักษาระดับการผลิตน้ำมันตามข้อตกลงเดิม ซึ่งเทียบจากกรณีอิหร่านที่ยังคงให้ความร่วมมือกับ OPEC ในการปรับลดกำลังการผลิต แม้ว่าจะมีข้อขัดแย้งอย่างรุนแรงกับซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม สนค. ได้ติดตามภาวะตลาดน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างใกล้ชิด พบว่า ปริมาณผลผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปัจจัยสำคัญที่กดดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกให้ลดลง ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ช่วง 50-60 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบดูไบในวันที่ 5 มิ.ย. 2560 อยู่ที่ 48.59 ดอลลาร์ สรอ. ต่อ บาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยโดยตรง
โฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังติดตามผลกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด แต่คาดว่าในชั้นนี้ความขัดแย้งน่าจะอยู่ในระดับจำกัด เห็นได้จากท่าทีของสหรัฐฯ โดยนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ กล่าวว่าสถานการณ์ความขัดแย้งของกลุ่มประเทศ GCC จะไม่ส่งผลกระทบต่อการต่อสู้กับกลุ่มขบวนการรัฐอิสลาม และเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกกลุ่มประเทศ GCC คลี่คลายความขัดแย้งของตนเอง ทั้งนี้กาตาร์เป็นประเทศที่มีทหารสหรัฐฯ ประจำการมากสุดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง โดยมีประมาณ 1.1 หมื่นคน สะท้อนความสัมพันธ์ในเกณฑ์ดีของกาตาร์และสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยในการคลี่คลายวิกฤติของกาตาร์ในครั้งนี้
ด้านการค้าระหว่างไทยกับกาตาร์อาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากเศรษฐกิจของกาตาร์ที่มีความเสี่ยงจะชะลอตัว โดย สนค. มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจกาตาร์อาจจะกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ใน 3 ด้าน คือ (1) ด้านสายการบิน Qatar Airways ไม่สามารถให้บริการและบินผ่านน่านฟ้าของประเทศที่ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตทำให้รายได้ลดลงและต้นทุนเพิ่มขึ้น (2) ความเสี่ยงด้านอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากร้อยละ 40 ของอาหารที่นำเข้าต้องผ่านชายแดนเพื่อนบ้าน ดังนั้น ต้นทุนของอาหารจะเพิ่มขึ้นและ อาจเกิดการขาดแคลนได้ และ (3) รายได้จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติอาจจะลดลง โดยกาตาร์เป็นผู้ผลิตก๊าซ NPG รายใหญ่สุดของโลก (ประมาณร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมด) และตลาดส่งออกที่สำคัญ ประกอบด้วย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อิยิปต์ และจอร์แดน
ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจของกาตาร์อาจจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าจากไทยลดลงกระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวต่อการค้าของไทยอย่างใกล้ชิด และแจ้งเตือนผู้ส่งออกและผู้ประกอบการเป็นระยะต่อไป
ข่าวเด่น