การตลาด
สกู๊ป "โฟร์โมสต์"ย้ำผู้นำตลาดนม หนุนเกษตรกร สู้ศึกการค้าเสรี


ในอีก 8 ปีข้างหน้าประเทศไทยก็จะก้าวสู่การเปิดเสรีการค้านมอย่างเป็นทางการ ซึ่งจากเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยทั้งในส่วนของตัวเกษตรกรโคนม และผู้ประกอบการในตลาดนมต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับการแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้นในอนาคต

            
การเปิดเสรีดังกล่าวถือเป็นการเดินตามกรอบข้อตกลงภายหลังประเทศไทยก้าวเข้าสู่เวทีการค้าเสรีในข้อตกลงต่างๆ นับตั้งแต่ในปี 2553 ที่มีการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งนมถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในข้อตกลงดังกล่าวที่ต้องมีการปรับลดภาษีนำเข้าและส่งออกเป็น 0%  จากปัจจุบันไทยเสียภาษีนำเข้านมพร้อมดื่มอยุ่ที่ประมาณ 84% และนมผงเสียภาษีนำเข้าอยู่ที่ประมาณ 216%
                
 
 
สำหรับข้อตกลงเปิดการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้นในอีก 8 ปีนับจากนี้ หรือประมาณปี 2568 จะเป็นการเดินตามกรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่ต้องการให้ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) และความตกลงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-นิวซีแลนด์ (TNZCEP) ที่มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อลดอัตราภาษีการนำเข้าและส่งออกนมเป็น 0%

จากข้อตกลงที่กำลังจะเกิดขึ้น  ประเทศไทยควรเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มปรับกลไกการบริหารจัดการนมภายในประเทศให้เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก โดยยึดคุณภาพน้ำนมเป็นมาตรฐานหลักในการกำหนดหรือให้ราคา เพื่อขยายตลาดส่งออกของนมไทยไปยังตลาดโลก  การพัฒนาเกษตรกรโคนมไทยให้มีประสิทธิภาพในการผลิต  เพื่อเพิ่มโอกาสของนมไทยในการแข่งขันเสรีในตลาดโลก

นอกจากนี้  ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมเองก็ควรมีการปรับมาตรฐานในการผลิต การขนส่ง การจัดจำหน่าย รวมถึงการทำการตลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์  ขณะเดียวกันในส่วนของภาครัฐควรก็สนับสนุนให้เริ่มปรับกลไก รวมถึงระเบียบข้อกฎหมายในเรื่องการควบคุม เพื่อมุ่งสู่กลไกของตลาดการค้าเสรีและส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร ผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรมในเชิงบูรณาการ

ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตน้ำนมดิบอยู่ที่วันละ 3,300 ตัน หรือปีละประมาณ 1.20 ล้านตัน  ซึ่งถือว่ามากที่สุดในอาเซียน  ส่วนประเทศที่มีการผลิตนมมากที่สุดรองลงมาคือ เวียดนาม ผลิตน้ำนมวันละ 3,205 ตันหรือปีละประมาณ 1.17 ล้านตัน  ตามด้วยอินโดนีเซียผลิตน้ำนมได้วันละ 2,334 ตันหรือปีละประมาณ 0.85 ล้านตัน  

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการผลิตน้ำนมดิบได้มากที่สุดในอาเซียน  แต่ประเทศไทยก็ยังมีปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมมากกว่าการส่งออก  โดยในปีที่ผ่านมามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์นมอยู่ที่ 231,002 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 16,472 ล้านบาท ขณะที่การส่งออกมีปริมาณเพียง 163,804 ตัน  หรือมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ส่งออก 6,995 ล้านบาทเท่านั้น  แต่อย่างไรก็ตามจากยอดการส่งออกของไทยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ทำให้คาดการณ์กันว่าในปี 2560 นี้จะมีการส่งออกผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน  เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการต่างๆ มีการขยายกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น  เพื่อรองรับกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
 
 

 
 
นายโอฬาร โชว์วิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ กล่าวว่า การเปิดเสรีการค้านี้เป็นโอกาสสำคัญในการขยายตัวของอุตสาหกรรมนมของประเทศไทย หากมีการเตรียมความพร้อมที่เหมาะสมอุตสาหกรรมนมไทยจะสามารถมีอำนาจการต่อรองในเชิงธุรกิจกับประเทศผู้ส่งออกสำคัญในเวทีโลก ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนแล้ว อุตสาหกรรมนมไทยมีความได้เปรียบในด้านศักยภาพการผลิตอีกทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทนับจากนี้จะเน้นไปที่การมุ่งสานต่อเจตนารมณ์ในการส่งมอบนมโคคุณภาพ 100% พร้อมสนับสนุนเกษตรกรโคนมไทยและผลักดันภาคอุตสาหกรรมนมไทยให้มีศักยภาพ และผลิตน้ำนมโคได้อย่างมีคุณภาพ ภายใต้แนวคิด “Nourishing by Nature – ให้ธรรมชาติดูแลคุณ” เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนทางด้านสุขภาพและโภชนาการที่ดีแก่ผู้บริโภค  โดยในส่วนของแผนการดำเนินงานดังกล่าวจะแบ่งออกเป็น 3 กลยุทธ์หลัก  ประกอบด้วย 1. Better nutrition for the world  ผลิตนมคุณภาพมาตรฐานจากเนเธอร์แลนด์เพื่อผู้บริโภคชาวไทย

ขณะที่กลยุทธ์ที่ 2. คือ A good living for our farmers  หรือการมุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของกลุ่มเกษตรกรโคนมไทย และกลยุทธ์ที่ 3 คือ  Now and for generations to come การให้การสนับสนุนกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ฟาร์มโคนมและสหกรณ์โคนมที่โฟร์โมสต์ร่วมดำเนินงานด้วยตลอดระยะเวลากว่า 60 ปีในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทยกว่า 4,000 แห่ง มีทักษะด้านการบริหารจัดการฟาร์มโคนม โดยการนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการทำฟาร์มโคนมจากประเทศเนเธอร์แลนด์มาแบ่งปันให้กับเกษตรกรโคนมชาวไทย ภายใต้ โครงการพัฒนาฟาร์มไทยก้าวไกลสู่มาตรฐานโลก (Dairy Development Program) เพื่อยกระดับคุณภาพของน้ำนมดิบอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายตลาดการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มประเทศที่จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษนับจากนี้ คือ ภูมิภาคอาเซียน  เนื่องจากประชากรให้ความสำคัญกับการบริโภคนมมากขึ้น  โฟร์โมสต์ จึงเล็งเห็นโอกาสดังกล่าว ขณะเดียวกันยังมีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่มขึ้น  เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคและตอกย้ำการเป็นผู้นำในตลาดนมยูเอชที ซึ่งปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ประมาณ 33% จากมูลค่า 20,000 ล้านบาท

สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมนมในปี 2560 นี้ คาดการณ์กันว่าจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2-3% จากปี 2559 ที่มีมูลค่า 60,000 ล้านบาท โดยในมูลค่าดังกล่าวแบ่งเป็นตลาดนมโค 45,000 ล้านบาท และตลาดนมถั่วเหลือง 15,000 ล้านบาท

LastUpdate 13/06/2560 19:20:09 โดย : Admin
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:40 pm