ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟล์ลิ่ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ จัดตั้งโดย บมจ.น้ำตาลบุรีรัมย์และ บลจ.บัวหลวง เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุน 350 ล้านหน่วย เพื่อลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ ของโรงไฟฟ้าชีวมวล บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จำกัด ชูจุดเด่น “พลังงานสีเขียว” ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากกากอ้อย พร้อมได้เมย์แบงก์ กิมเอ็ง รับหน้าที่ FA มือทอง
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า BRR ร่วมกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด จัดตั้ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์” หรือ BRRGIF เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไปเป็นครั้งแรก โดยจะมีจำนวนหน่วยลงทุนที่เสนอขายต่อผู้จองซื้อทั่วไปประมาณ 115.5 ล้านหน่วย จากทั้งหมด 350 ล้านหน่วย มูลค่าระดมทุนไม่เกิน 3,850 ล้านบาท โดยช่วงราคาที่เสนอขายจะกำหนดต่อไป
สำหรับเงินที่ระดมทุนได้นั้น จะนำไปลงทุนในสิทธิในรายได้สุทธิฯ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้าชีวมวลของ บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จํากัด (BEC) และบริษัท บุรีรัมย์เพาเวอร์ จํากัด (BPC) ทั้งนี้กองทุนฯจะได้รับรายได้สุทธิฯ ตามสูตรการคํานวณภายใต้สัญญาโอนสิทธิรายได้สุทธิฯ ซึ่งประกอบด้วย (1) รายได้ค่าซื้อขายไฟฟ้า (2) รายได้ค่าซื้อขายไอน้ำ (3) รายได้อื่นที่ได้รับจากการประกอบกิจการโรงไฟฟ้า หักด้วย (4) ค่าใช้จ่ายของโรงไฟฟ้า โดยกองทุนฯ มีนโยบายปันผลปีละ 2 ครั้ง ในอัตราไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว
นายสุทธิพงศ์ พัวพันธ์ประเสริฐ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการกองทุน กล่าวว่า กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์จะลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพ และสามารถสร้างผลตอบแทนในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน
การเข้าไปลงทุนในสิทธิรายได้สุทธิฯ ของ BEC และ BPC นั้น น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตประเภทพลังงานความร้อนร่วม (Cogeneration System) สามารถผลิตและจำหน่ายได้ทั้งไฟฟ้าและไอน้ำ โดยใช้กากอ้อยซึ่งเป็นเศษวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการหีบอ้อยและผลิตน้ำตาลของโรงงานน้ำตาลในกลุ่มบริษัทฯ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ถือเป็น “โรงไฟฟ้าสีเขียว” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การเข้าทำสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำ และวัตถุดิบชีวมวล จะเป็นสัญญาระยะยาว มีการกำหนดราคาเริ่มต้น ตลอดจนสูตรการคำนวณราคา/เกณฑ์การปรับราคาที่ชัดเจน
ทั้งนี้ BEC และ BPC มีกําลังการผลิตไฟฟ้าโรงละประมาณ 9.9 เมกะวัตต์ โดยได้เข้าทําสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับ กฟภ. ประเภทผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP) ที่ผลิตไฟฟ้าด้วยระบบพลังงานชีวมวล โดยกําหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (“FiT”) ในปริมาณพลังไฟฟ้าสูงสุด 8 เมกะวัตต์ ในขณะที่ไอน้ำที่ผลิตได้ จะจำหน่ายกลับไปยังโรงงานน้ำตาลต่อไป
นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้พิจารณานับหนึ่งแบบไฟล์ลิ่ง “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
BRRGIF จะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่ลงทุนในโรงไฟฟ้าชีวมวลโรงแรก ซึ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ การจัดตั้งกองทุน BRRGIF นอกจากจะสนองตอบนโยบายภาครัฐด้านการพัฒนาพลังงานทางเลือกให้เติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับผู้ลงทุนทุกกลุ่มทั้งสถาบันและบุคคลธรรมดา เนื่องจากจุดเด่นของกองทุนฯ ที่มีความมั่นคงของเชื้อเพลิงชีวมวลที่ป้อนโรงไฟฟ้า โครงสร้างกระแสรายได้ที่ค่อนข้างมั่นคง และยังได้จัดให้มีหลักประกันทรัพย์สินของโรงไฟฟ้าทั้งสองแห่งแก่กองทุนฯเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติหน้าที่ของ BRR BEC และ BPC อีกด้วย
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนเองยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านลดหย่อนภาษีเงินปันผล จากการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานตามประเภทของผู้ลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยจะได้รับยกเว้นภาษีเงินปันผลหัก ณ ที่จ่าย เป็นระยะเวลา 10 ปีภาษีนับแต่ปีภาษีที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุน
ข่าวเด่น