ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA (อีจีเอ) เปิดเผยว่าโครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบายโซลูชันภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2560” หรือ Mobile Enterprise d-Government Award 2017 : MEGA 2017” ในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ EGA ได้จัดร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ด้วยแนวคิดหรือ Theme หลักคือ Data Economy ที่เป็นการจัดสรรระบบข้อมูลภาครัฐเพื่อพัฒนาเป็นระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่จะขับเคลื่อนทั้งภาครัฐและเอกชนไปด้วยกัน
โครงการนี้ต้องการเน้นสิ่งที่ภาครัฐมี คือฐานข้อมูลที่เข้าถึงการบริการประชาชนทั้งประเทศในทุกภาคส่วน ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนเองสามารถคิดค้นแอปพลิเคชันใหม่ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยคาดหวังว่าจะดึงภาคเอกชนฝีมือดีเข้ามาพัฒนาต่อยอดและสร้างหน่ออ่อนจากนักศึกษาที่กำลังจบจากมหาวิทยาลัยให้มีความคุ้นชินกับเรื่องรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์และเข้ามาพัฒนางานร่วมกัน ดังนั้น การเร่งผลักดัน Open Data ของภาครัฐต่อเนื่องด้วยการสร้าง API หรือชุดซอฟต์แวร์ที่ทำให้สามารถดึงข้อมูลภาครัฐไปใช้ได้อย่างอัตโนมัติจึงจำเป็นต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีเริ่มต้นที่เริ่มเปิด API และจะเป็นปีทดลองที่มีนัยสำคัญต่อการพัฒนาอย่างมาก
“การทำให้ผลงานหรือแนวคิดที่เกิดจากโครงการ MEGA 2017 สามารถต่อยอดและเติบโต ยิ่งถ้านำไปสู่การเป็น Tech Start-Up ได้ จะถือเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวด ซึ่งโครงการในปีนี้ได้สร้างกระบวนการเช่นเดียวกับที่ Tech Start-Up จะต้องเจอ ไม่ว่าจะเป็นการ Pitch Idea การสร้างที่ปรึกษา หรือ Mentor และการนำเสนอผลงานต่อนักลงทุนจริงๆ ซึ่งเป็น Ecosystem ที่ผู้ประกวดต้องประสบ ดังนั้น มาตรฐานในกระบวนการประกวดจะสูงขึ้น และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมจริงของบริษัท Start-up” ดร.ศักดิ์ฯ กล่าว
โครงการ MEGA 2017 ปีนี้ ยังคงจัดประเภทการประกวดเป็น 2 ประเภทเช่นเดียวกับปีก่อนหน้า คือ ประเภทนักศึกษา (Idea Student) และประเภทผู้ประกอบการ (Accelerator) สำหรับผู้ประกอบการจะเป็นการนำเสนอผลงาน หรือ นวัตกรรม ที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาสำเร็จแล้ว และนำมาแสดงต่อคณะกรรมการในรูปแบบของ Prototype/MVP ที่สามารถนำไปสร้าง Business Model ได้จริง นอกจากนี้ ทั้ง 2 ประเภท ผู้ประกวดสามารถนำชุดข้อมูลในรูปแบบของ Open Government Data ใน data.go.th มาพัฒนาเป็นผลงานในการประกวดได้ และสำหรับปีนี้ทาง EGA จะเตรียมข้อมูล Open Data ของภาครัฐในรูปแบบ API ไว้ให้ใช้งานสำหรับในบางหมวดด้วย ซึ่งจะให้ใช้เฉพาะกลุ่มผู้เข้าประกวดระดับผู้ประกอบการก่อน เนื่องจากยังถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการซอฟต์แวร์ภาครัฐ
นอกจากการประกวดแล้ว MEGA2017 ยังมีกิจกรรม “แคมป์บ่มเพาะ” (Incubation) ให้แก่รุ่นนักศึกษา โดยมีการบ่มเพาะรวมทั้งหมด 3 ครั้งสำหรับผู้เข้าประกวดที่ผ่านการคัดเลือกแต่ละรอบเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและดึงศักยภาพสูงสุดในตัวผู้เข้าประกวดและทีมงาน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้เรื่องเทคโนโลยี เครื่องมือการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่สำคัญ รวมทั้งสารประโยชน์ แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโลก และเรื่องสำคัญอื่นๆ อีกมากมายเพื่อเป็นการบ่มเพาะเพิ่มทักษะทางธุรกิจ เพื่อก้าวสู่กลุ่ม Start-up นอกจากนั้น ผู้เข้ารอบยังมีโอกาสได้พบกับเจ้าของหน่วยงานภาครัฐที่เลือกพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะโดยตรง อีกทั้งอาจเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจต่อไปหลังจบโครงการ
สำหรับรางวัลของการประกวดประกอบด้วย โอกาสการต่อยอดทางธุรกิจ (Business Opportunity) กับหน่วยงานภาครัฐในทุกผลงาน รางวัลหลัก 8 รางวัล แบ่งเป็นประเภทนักศึกษา รางวัลชนะเลิศ ถ้วยรางวัลพระราชทาน โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมูลค่า 70,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมูลค่า 50,000 บาท รางวัลชมเชย เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน เป็นจำนวนมูลค่า รางวัลละ 20,000 บาท
ประเภทผู้ประกอบการ รางวัลชนะเลิศ ถ้วยรางวัลพระราชทาน โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมูลค่า 100,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมูลค่า 70,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 โล่เกียรติคุณ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมูลค่า 50,000 บาท รางวัลชมเชย เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน เป็นจำนวนมูลค่า รางวัลละ 20,000 บาท
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า MEGA 2017 ในปีนี้ถือเป็นปีแรกที่ NIA ได้ร่วมกันจัดงานกับ EGA ที่ผ่านมาทาง NIA สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมในหลายสาขาธุรกิจ เน้นหนักไปทางผู้ประกอบการในกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) แต่ในกลุ่ม Data Economy ที่เน้นการสร้างนวัตกรรมจากข้อมูลภาครัฐ ซึ่งในช่วงที่่ผ่านมาประเทศไทยยังมีความตื่นตัวในวงจำกัด โครงการนี้ถือเป็นโอกาสใหม่อันดีในการรังสรรค์นวัตกรรมและผลักดัน โซลูชันกลุ่มนี้ให้มีมากขึ้นในเชิงพาณิชย์ต่อไป
การประกวดครั้งนี้ NIA จะมีส่วนร่วมในการเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเป็นหลัก โดยเฉพาะผู้เข้าประกวดต้องนำเสนอความคิดและไอเดียสู่ความเป็นนวัตกรรมที่มีรูปแบบของแผนธุรกิจที่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้ที่แท้จริง โดยครอบคลุมประเด็นทางเทคโนโลยี การเงิน การตลาด และความสามารถของทีม ซึ่งอาจเป็นโครงการที่พัฒนามาแล้วในระดับห้องปฏิบัติการวิจัยให้มาสู่การปฏิบัติการระดับอุตสาหกรรมในเชิงพาณิชย์ หรืออาจอยู่ในขั้นตอนของการทำต้นแบบ (Prototype) รูปแบบทดลอง (Experimental units) การทดสอบในระดับนำร่อง (Pilot Scale) เพื่อยืนยันความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีก่อนจะนำไปสู่การผลิตจริง โรงงานนำร่อง (Pilot Plant) การปฏิบัติการก่อนเป็นเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ (Pre-Commercial) ตลอดจนการทดสอบในกระบวนการผลิตจริง (Full Scale Trial) เมื่อผ่านเข้ารอบจึงพัฒนาเป็น Prototype และ Demo/MVP ที่สามารถนำไปสร้าง Business Model ได้จริงต่อไป และนำมาแสดงต่อคณะกรรมการในรูปแบบของ Demo/MVP ที่พร้อมต่อการพัฒนาต่อยอด
ส่วนหัวข้อการประกวดของผู้ประกอบการจะแบ่งเป็น 3 หมวดหลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation : EECi) ได้แก่ การขนส่งและการเดินทาง (Logistic / Transport), เมืองน่าอยู่ (Waste / Safety / Urban / Security / Sanitary), การเข้าถึงบริการภาครัฐ (Public Service Accessibility / Health Tech) โดยในส่วนการเข้าถึงบริการภาครัฐ จะมีอีก 2 หมวดย่อยพิเศษ คือ Chatbot และ Traffic / Queue / Resource Management เป็นต้น
ส่วนของรางวัลสำหรับผู้ประกอบการ นอกจากโอกาสการต่อยอดทางธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐ และโอกาสในการเรียนรู้เสริมสร้างทักษะและความรู้ในด้านต่างๆ รวมถึงเงินรางวัลหลักทั้ง 8 รายการของโครงการแล้ว สำหรับทีมที่ผ่านเข้ารอบในรอบ Prototype จะได้รับเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาต้นแบบ จาก NIA สูงสุด 1,000,000 บาทต่อทีม โดยเงื่อนไขเงินทุนสนับสนุนเพื่อพัฒนาต้นแบบจะอยู่ในรูปแบบของเงินสนับสนุน ไม่มีข้อผูกมัดในเรื่องการเข้าถือหุ้น ถือเป็นเงิน Seed Money ที่ทำให้ต้นแบบเป็นเชิงพาณิชย์และเข้าสู่รอบ Seed Round หรือ Pre Series A ต่อไป
โดยผู้ผ่านเข้ารอบตามกติกามีสิทธิได้รับการสนับสนุนจะต้องลงทุนในโครงการในรูปของเม็ดเงิน (In-Cash) ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายโครงการ ขณะที่ NIA จะสนับสนุนเงินอุดหนุนในรูปแบบของเงินสนับสนุนไม่เกินร้อยละ 75 ของค่าใช้จ่ายโครงการ ในวงเงินไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อโครงการ โดยคงระยะเวลาการสนับสนุนไม่เกิน 6 เดือน
โครงการนี้จึงถือเป็นอีกโครงการหนึ่งที่ NIA ตั้งเป้าหมายที่จะสร้าง Data Economy ร่วมกับ EGA และคาดหวังให้เกิดผลผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างผลงานชนะเลิศการประกวดเท่านั้น ยังเป็นโครงการที่สอดคล้องและนำไปต่อยอดกับโครงการย่านนวัตกรรม (Innovation District) ในพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of innovation : EECi) ที่ NIA และ EGA ร่วมมือกันขับเคลื่อนย่านมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรม วิสาหกิจเริ่มต้น ภายในย่านนวัตกรรม โดยกำหนดวางผังย่านและจัดทำแผนพัฒนาในปีงบประมาณ 2560 นี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.mega.ega.or.th
ข่าวเด่น