การค้า-อุตสาหกรรม
การจดทะเบียนธุรกิจและผลการให้บริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า


ผลการจดทะเบียนธุรกิจ เดือนพฤษภาคม 

 • จำนวนการจดทะเบียน มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศเดือนพฤษภาคม 2560 จำนวน 5,832 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 1,049 ราย คิดเป็น 22% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีจำนวน 4,783 ราย และเพิ่มขึ้นจำนวน 1,466 ราย คิดเป็น 34% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 4,366 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิก มีจำนวน 1,074 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 196 ราย คิดเป็น 22% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีจำนวน 878 ราย และเพิ่มขึ้นจำนวน 103 ราย คิดเป็น 11% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 971 ราย

• มูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 31,411 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 9,579 ล้านบาท คิดเป็น 44% เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2560 ซึ่งมีจำนวน 21,832 ล้านบาท และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจำนวน 12,638 ล้านบาท คิดเป็น 67% เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ซึ่งมีจำนวน 18,773 ล้านบาท

• ประเภทธุรกิจที่มีการประกอบธุรกิจใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน  531 ราย รองลงมาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 346 ราย ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ จำนวน 211ราย ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร จำนวน 149 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ จำนวน 130 ราย ตามลำดับ

• ห้างหุ้นส่วนบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสิ้น (ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 60) จำนวน 1,389,729 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 20.90 ล้านล้านบาท โดยมีห้างหุ้นส่วนบริษัทที่ดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 666,292 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียน 16.15 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 483,568 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,169 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,555 ราย

การคาดการณ์ตลอดปี 2560

อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.60) มีการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทจำนวน 29,417 ราย เพิ่มขึ้นจำนวน 3,541 ราย คิดเป็น 14% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ม.ค.-พ.ค.59) ซึ่งมีจำนวน 25,876 ราย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มขยายตัวอย่างชัดเจนจากภาคการส่งออกสินค้าและบริการที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามรายได้เกษตรกรและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายในช่วงก่อนหน้านี้เริ่มเดินทางกลับเข้ามา และมีการใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป 

แต่อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้ง ด้านการเมืองระหว่างประเทศ

ผลการให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

DBD e-Registration

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เริ่มให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคล (ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด) ผ่านระบบ จดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2560 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 มีผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 7,673 ราย ได้รับการอนุมัติและเข้าไปยืนยันการใช้ระบบ (Activate) จำนวน 3,070 ราย   

หมายเหตุ :  - เริ่มเปิดให้บริการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2560

                        - เริ่มเปิดให้บริการยื่นจดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2560

 

บริการ DBD e-Service

ให้บริการตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคลโดยค้นหาข้อมูลนิติบุคคลจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนงบการเงิน รายชื่อร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ และข้อมูลสมาคมการค้าและหอการค้า รวมทั้งมีบริการข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application: DBD e-Service) ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557เป็นต้นมาเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง มีสถิติผู้เข้าใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 รวมทั้งสิ้น 3,280,558 ครั้ง โดยในเดือนพฤษภาคม 2560 มีผู้ใช้บริการ จำนวน 145,866 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (ม.ค.57–เม.ย.60 = 3,134,692 ครั้ง) คิดเป็น 5%

 

DBD e-Filing

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการนำส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนและนิติบุคคลทั่วไปตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 มีสถิติผู้สมัครลงทะเบียน จำนวน 558,113 ราย แสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่และได้รับอนุมัติ จำนวน 524,130 ราย และมีรายละเอียดการนำส่งงบการเงิน ดังนี้

นิติบุคคลต้องนำส่งงบการเงิน

  • ปีงบการเงิน 2559                         จำนวน 591,052 ราย

นำส่งงบการเงินแล้ว ภายใน 31 พ.ค.60

    • ปีงบการเงิน 2559   จำนวน 484,078 ราย (คิดเป็น 82% ของนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบฯ)

    - ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)   จำนวน  307,723 ราย (คิดเป็น 52% ของนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบฯ หรือ

            คิดเป็น 64% ของนิติบุคคลที่นำส่งงบฯแล้ว)

    - ส่งงบกระดาษ   จำนวน  176,355 ราย (คิดเป็น 30% ของนิติบุคคลที่ต้องนำส่งงบฯ)

 

การจดทะเบียนสัญญาหลักประกัน

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เริ่มให้บริการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2559  เป็นต้นมา จนถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2560มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวน 139,092คำขอโดยมีมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาการจดทะเบียนทั้งสิ้น 2,150,799ล้านบาทโดยแบ่งประเภททรัพย์สินที่นำมาเป็นหลักประกันได้ มีดังนี้

1. สิทธิเรียกร้อง   มูลค่าทั้งสิ้น  1,695,289 ล้านบาท  คิดเป็น 78.82% แบ่งเป็น

- บัญชีเงินฝากธนาคาร มูลค่า  1,192,911 ล้านบาท คิดเป็น 55.46%

- สิทธิการเช่า มูลค่า      77,887 ล้านบาท คิดเป็น   3.62%

- อื่นๆ เช่น ลูกหนี้การค้า มูลค่า    424,491 ล้านบาท คิดเป็น 19.74%

2. สังหาริมทรัพย์  มูลค่าทั้งสิ้น    453,535 ล้านบาท คิดเป็น 21.09% แบ่งเป็น

- สินค้าคงคลัง/วัตถุดิบ มูลค่า    265,787 ล้านบาท คิดเป็น 12.36%

- เครื่องจักร/รถยนต์/เรือ มูลค่า    187,748 ล้านบาท คิดเป็น   8.73%

3. ทรัพย์สินทางปัญญา มูลค่าทั้งสิ้น       1,975 ล้านบาท คิดเป็น  0.09% 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกใบอนุญาตผู้บังคับหลักประกัน จำนวน 385ราย

ธรรมมาภิบาลธุรกิจ 

 

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีหน้าที่ส่วนหนึ่งในการกำกับดูแลธุรกิจให้ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจ เพราะธรรมาภิบาลเป็นพื้นฐานที่จะนำพาองค์กรและสังคมก้าวไปสู่ความสำเร็จพร้อมๆกัน จึงได้พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานด้านธรรมาภิบาลตามหลักธรรมาภิบาล 6 หลัก ได้แก่ หลักนิติธรรม           หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เพื่อใช้ประเมินธุรกิจเข้าสู่เกณฑ์มาตรฐานด้านธรรมาภิบาล และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดสัมมนาสร้างองค์ความรู้เรื่องเกณฑ์มาตรฐานด้านธรรมาภิบาลธุรกิจขึ้น ในวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2560 ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 โดยมีธุรกิจที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่า มีธุรกิจจากภูมิภาคในหลายๆ จังหวัด ให้ความสนใจเข้ารับฟังการสัมมนาดังกล่าว ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีที่ธุรกิจ SMEs หันมาให้ความสนใจในเรื่องของธรรมาภิบาล เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้ธุรกิจ SMEs มีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน เป็นการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจฐานรากของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง


บันทึกโดย : วันที่ : 19 มิ.ย. 2560 เวลา : 13:37:42
18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 1:25 pm