การตลาด
สกู๊ป :จับตา "ภาษีน้ำหวาน" ทุบธุรกิจเครื่องดื่มวูบ


ในวันที่ 16 ก.ย.ที่จะถึงนี้ อุตสาหกรรมเครื่องดื่มของไทยก็ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ จากเดิมกฎหมายปัจจุบันระบุไว้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มจะต้องเสีย  VAT 7%  มีค่าบริหารจัดการ+กำไร มีการเสียค่าภาษีสรรสามิต 20% ของราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม และค่าต้นทุนสินค้าราคา ณ โรงงานอุตสาหกรรม  แต่หลังจากกฎหมายใหม่ประกาศใช้ในวันที่ 16 ก.ย.นี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต้องเสียค่า VAT 7% เสียค่าภาษีสรรพสามิตของราคาเปรียบเทียบแนะนำ+ปริมาณน้ำตาล X บาท/ลิตร  และค่าต้นทุนสินค้า+ค่าบริหารจัดการ+กำไรมาตรฐาน

 

จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างเร่งหาทางออก เพื่อไม่ให้เสียค่าภาษีเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เพราะทางกระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อขออนุมัติใช้กฎหมาย จึงทำให้มาตรการดังกล่าวยังไม่นิ่ง และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของอัตราเฉลี่ยของภาษีใหม่ที่จะเรียกจัดเก็บ

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นทางกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง ก็ได้มีการกำหนดมาตรการช่วยเหลือและบทลงโทษไว้ในระเบียบการคร่าวแล้วว่า ถ้าผู้ประกอบการรายไหนสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ได้ทันเวลา ก็จะได้รับ Incentive ปรับลดอัตราภาษี แต่หากใครยังไม่ปรับตัวตามก็จะให้ระยะเวลาในการแก้ไข 2 ปี และหากยังไม่รีบดำเนินการแก้ไขภายใน 2 ปี ก็จะเรียกจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำตาลในอัตราก้าวหน้า

นายณัฐกร อุเทนสุต ผู้อำนวยการสำนักภาษี กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล  ซึ่งจะเริ่มประกาศใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ก.ย. นี้  ทางกรมได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ  ได้แก่ ระยะที่ 1 คือ ช่วงระหว่างวันที่  16 ก.ย. 2560 - 30 ก.ย. 2562 ระยะเวลา 2 ปี จะให้ Incentive  ด้วยแรงจูงใจลดภาษีสำหรับผู้ประกอบการที่ปรับตัวลดปริมาณความหวานที่ปรับตัวปฎิบัติตามกฎหมายใหม่ แต่ถ้าหากใครยังปรับตัวไม่ทันก็จะให้โอกาสภายใน 2 ปีนี้ แก้ไขปรับปรุงสูตรให้มีน้ำตาลลดลง ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวจะยังไม่มีการเก็บภาษีเพิ่มเติมตามกฎหมายใหม่

ส่วนขณะที่ระยะที่ 2 จะอยู่ในช่วงวันที่  1 ต.ค. 2562 – 30 ก.ย. 2564 และ 1 ต.ค. 2564 - 30 ก.ย. 2566 ช่วงเวลาดังกล่าวจะเป็นช่วงเริ่มให้ Penalty  หรือบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่ยังไม่ปรับตัวลดปริมาณความหวาน ด้วยการเก็บอัตราภาษีเพิ่มขึ้นแบบก้าวหน้า และระยะที่ 3 ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่  1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป หากผู้ประกอบการยังไม่ปรับลดปริมาณความหวานจะมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไปอีกในอัตราแบบก้าวหน้า

 

 

สำหรับสูตรเครื่องดื่มที่ผู้ประกอบการต้องปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่จะประกาศออกมา คือ ต้องมีปริมาณความหวานของน้ำตาลไม่เกิน 10 กรัมต่อปริมาณเครื่องดื่ม 100 มิลลิลิตร  แต่ถ้าหากเกินก็จะมีการเรียกจัดเก็บภาษีแบบขันบันไดใน 3 ระดับ คือ 1. มีปริมาณความหวานของน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อมิลลิลิตร แต่ไม่เกิน 14 กรัมต่อมิลลิลิตร จัดเก็บอัตราภาษีแบบหนึ่ง 2. ปริมาณความหวานของน้ำตาลเกิน 14 กรัมต่อมิลลิลิตรแต่ไม่เกิน 18 กรัมต่อมิลลิลิตร จะถูกจัดเก็บอัตราภาษีแบบหนึ่ง และ 3. ปริมาณความหวานของน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อมิลลิลิตรจะถูกจัดเก็บอัตราภาษีอีกแบบหนึ่ง เป็นต้น

นายณัฐกร กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎหมายใหม่ของภาษีเครื่องดื่มในครั้งนี้ ถือเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี  เนื่องจากปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่จะมีปัญหาสุขภาพ เพราะรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวานมากเกินไป  ดังนั้นจึงต้องมีการจัดระเบียบใหม่ ซึ่งจากแนวทางดังกล่าวยอมรับว่าอาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการบางส่วนที่จากเดิมไม่เคยเสียภาษีเครื่องดื่มเลย แต่หลังจากประกาศใช้กฎหมายใหม่จะต้องกลับมาเสีย และหนึ่งในนั้น คือ กลุ่มเครื่องดื่มน้ำผักและผลไม้บางชนิด

จากมาตรการดังกล่าวทำให้ทางสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ออกมาคาดการณ์ว่าอาจทำให้ผู้บริโภครู้สึกช็อคกับมาตรการดังกล่าว เพราะการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้น หมายถึงการขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าในกลุ่มเสี่ยงไปประมาณ 3-6 เดือน

 

นายประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย  กล่าวว่า จากมาตรการภาษีเครื่องดื่มใหม่ที่จะประกาศใช้ในวันที่ 16 ก.ย. นี้  เบื้องต้นอาจจะยังไม่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มมากนัก เนื่องจากยังเป็นช่วงของเวลาผ่อนผันให้ผู้ประกอบการได้มีโอกาสปรับตัว เพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง แต่อย่างไรก็ตาม จากกระกาศดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อจิตวิทยาของผู้บริโภคให้เกิดอาการช็อค  และชะลอการซื้อสินค้าออกไป เพราะการขึ้นภาษีหมายถึงการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น

สำหรับ ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทยปีนี้ คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ทรงตัวจากปีก่อนที่มีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ และการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มใหม่ตามปริมาณน้ำตาล ซึ่งกลุ่มสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเก็บภาษีใหม่ คือ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผักและผลไม้ ส่วนนม ถือเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้น เพราะเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมราคาจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์

จากเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ขณะนี้เริ่มมีผู้ประกอบการออกมาปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ ด้วยการหันมาปรับปรุงสูตรเครื่องดื่มให้มีปริมาณน้ำตาลลดลง เช่น เครื่องดื่มนมถั่วเหลือไวตามิลค์  ที่ออกมาเปิดตัวสูตรกลมกล่อม และเครื่องดื่มแมนซั่ม  ที่ออกมาพัฒนาสินค้าสูตรใหม่จนได้ตราสัญลักษณ์ "ทางเลือกสุขภาพ" เหมือนกับเครื่องดื่มไวตามิลค์ ซึ่งการปรับตัวดังกล่าวถือเป็นเพียงการเริ่มต้น คาดว่าใกล้วันประกาศใช้จะมีให้เห็นเพิ่มเติมอีก


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มิ.ย. 2560 เวลา : 15:33:31
26-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 26, 2024, 1:43 pm