เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คลังลดภาษี 4 ประเภท หนุน "รถไฮบริด-ไฟฟ้า"


เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี   ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราภาษีสรรพสามิต  เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ  โดยระบุว่า 


1.ให้รถยนต์นั่งกึ่งบรรทุก (Pick –up Passenger Vehicle: PPV) ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลูกบาศก์เซนติเมตร(ลบ.ซม.) และเป็นรถยนต์แบบผสมที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า (ไฮบริด) ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 175 กรัม/กิโลเมตร ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลง เหลือร้อยละ 23
2.ให้รถยนต์นั่งที่มีกระบะ (ดับเบิ้ล แค็บ) ที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,250 ลบ.ซม. และเป็นรถยนต์แบบไฮบริด ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลง เหลือร้อยละ 10
3.ให้รถยนต์นั่งแบบไฮบริดที่มีความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ลบ.ซม. ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงกึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่ได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องลดอัตราและยกเว้นภาษี สรรพสามิต (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธ.ค.2534
4.ให้รถยนต์นั่งแบบพลังงานไฟฟ้าได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือร้อยละ 2

ซึ่งผู้ที่จะได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับรถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า  จะต้องได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุน ตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า   จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และต้องยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ขอรับการลดอัตราภาษีสรรพสามิต  และทำข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตก่อนเริ่มการผลิตรถยนต์ดังกล่าว ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2563  ตั้งแต่ปีที่ 5 นับแต่วันที่ลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568  รถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตทุกคัน ต้องใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตหรือประกอบจากผู้ที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประเภทลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ หรือแบตเตอรี่ประเภทอื่นที่ให้พลังงานจำเพาะโดยน้ำหนักที่สูงกว่าประเภทลิเธียมไอออน หรือนิกเกิลเมทัลไฮไดรด์ 

ทั้งนี้ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตของรถยนต์ไฮบริดหรือรถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้าให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2568  

 
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ระบุว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่เคยโดดเด่นกลับถดถอยลง  ด้วยอัตราการผลิตรถยนต์เติบโตเฉลี่ยเพียง 5% ต่อปี และไทยเริ่มถูกแย่งตลาดส่งออกจากคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและแอฟริกาใต้ โดยนับจากปี 2553 เป็นต้นมา  มูลค่าการส่งออกรถยนต์นั่งของไทยเติบโตได้เฉลี่ยเพียง 8% ต่อปี แต่อินโดนีเซียกลับเติบโตได้มากถึง 17% ต่อปี   ซึ่งตลาดส่งออกที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และฟิลิปปินส์    ยิ่งไปกว่านั้น ไทยยังถูกแอฟริกาใต้แย่งส่วนแบ่งตลาดการส่งออกรถกระบะไปอังกฤษ โดยในปี 2559  แอฟริกาใต้มีมูลค่าการส่งออกไปอังกฤษเพิ่มมากกว่า 10 เท่า   ส่วนไทยทรงตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้ภาพรวมการส่งออกรถยนต์ของไทยขยายตัวลดลงจากเดิม 12% ในปี 2558 เหลือเพียง 5% ในปี 2559

 
 
 
ดังนั้นผู้ประกอบการ ควรเร่งสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่ตอบรับเทรนด์ด้านการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความซับซ้อนสูงขึ้น  แต่รวมไปถึงการรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรถยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle) หรือรถยนต์ไร้คนขับ (autonomous vehicle) เป็นต้น นอกจากนี้ การยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีจะยังส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถตอบโจทย์เทรนด์การใช้ modular platform ซึ่งรวมไปถึงการขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของค่ายรถทั้งในและนอกประเทศอีกด้วย          
 

LastUpdate 20/06/2560 21:11:18 โดย : Admin
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 11:42 am