การลงทุนจากต่างประเทศเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคอาเซียน ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้สนับสนุนนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทย โดย นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์ ได้ปลดล็อก 19 ธุรกิจ โดยการถอดออกออกจากบัญชีท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตามกฎกระทรวงพาณิชย์ฉบับใหม่แล้ว โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธนาคาร และธุรกิจพัฒนาและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนต่างชาติลดภาระค่าใช้จ่าย ระยะเวลา และลดความยุ่งยากซ้ำซ้อนในการขออนุญาตจากหน่วยงานรัฐ ก่อให้เกิดความรวดเร็วและความคล่องตัวด้านการประกอบธุรกิจในประเทศไทย สร้างสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจช่วยดึงดูดเงินทุนและผู้มีความสามารถจากต่างประเทศให้สนใจเข้ามาลงทุนส่งเสริมในการพัฒนาประเทศมากขึ้น
โดยธุรกิจที่ได้ถอดออกทั้ง 19 รายการ แบ่งเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่
1.ธุรกิจสถาบันการเงิน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องหรือจำเป็นต่อการประกอบธุรกิจของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน (14 ธุรกิจ) เช่น การเป็นตัวแทนของสถาบันการเงิน การนำอสังหาริมทรัพย์ออกให้เช่า เป็นต้น
2 ธุรกิจการบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ 3 ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 4 ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานภูมิภาคของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ 5 ธุรกิจบริการที่มีส่วนราชการเป็นคู่สัญญา และ 6 ธุรกิจบริการที่มีรัฐวิสาหกิจเป็นคู่สัญญา
สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันการเงิน ที่ถอดออกจากบัญชีในครั้งนี้ เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการส่งเสริมการแข่งขันในภาคธุรกิจบริการธนาคารพาณิชย์ และเป็นกิจกรรมที่ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการอยู่แล้ว ส่งผลให้เกิดการแข่งขันด้านการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการลงทุนของประเทศในระยะยาว
นางอภิรดีกล่าวต่อว่า ส่วนธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทน และสำนักงานภูมิภาคของนิติบุคคลต่างประเทศ เป็นการให้บริการแก่สำนักงานใหญ่ที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ ในการหาแหล่งจัดซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศไทย จึงเป็นโอกาสให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ และสำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวเป็นคู่สัญญากับส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ทางรถไฟ รถไฟฟ้า สนามบิน โรงไฟฟ้า และการขุดเจาะปิโตรเลียม เป็นต้น
ดังนั้นเห็นได้ชัดเจนว่าการปรับปรุงบัญชีท้าย 3 พ.ร.บ.ต่างด้าวฯ ในธุรกิจดังกล่าว จะเกิดโอกาสสำคัญที่ดึงดูดการลงทุนจากผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรมการบริการ เสริมให้ไทยก้าวไปเป็นศูนย์กลางของอาเซียนด้วยลักษณะของชัยภูมิที่เหนือกว่าประเทศอื่น ประกอบกับมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพของไทยทั้งทางบก น้ำ และอากาศ ที่พร้อมสำหรับการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการค้าของตลาดอาเซียนรองรับประชากรที่มีมากกว่า 600 ล้านคน
ด้านแหล่งข่าวจากสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงว่า การที่กระทรวงพาณิชย์ถอดธุรกิจสถาบันการเงิน ออกจากบัญชี 3 แนบท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ไม่ได้หมายความว่า ต่อไปต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจสถาบันการเงินได้มากกว่า 50% แต่อย่างใด เพราะการทำธุรกิจของสถาบันการเงินต้องดูแลโดยกฎหมายเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน 2551
ทั้งนี้ บริบทในการทำธุรกิจของสถาบันการเงินไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากที่เป็นอยู่มากนัก การที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในธุรกิจสถาบันการเงินในไทย ยังต้องดำเนินการขออนุญาตตามปกติภายใต้การดูแลของ ธปท.และกระทรวงการคลัง คือ ถ้าเข้ามาถือลงทุนไม่เกิน 25% ธปท.สามารถพิจารณาได้เอง แต่ถ้าเกิน 15-49% ธปท.ต้องเสนอกระทรวงการคลังพิจารณา
อย่างไรก็ตาม การผ่อนผันตามกฎหมายของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าวจะช่วยให้ต่างชาติเข้ามาธุรกิจในบางส่วนได้สะดวกขึ้น ไม่ติดขัดในข้อกฎหมายเดิม เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio : D/E) อาจไม่ต้อง กำหนดไว้ที่ 7 ต่อ 1 เพราะเดิม ธปท.ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจโดยใช้ทุนตัวเองเป็นหลัก ไม่อยากให้กู้เงินมาทำ แต่จากนี้ไปกฎเกณฑ์เช่นนี้จะยืดหยุ่นมากขึ้น
ข่าวเด่น