การค้า-อุตสาหกรรม
กระทรวงพาณิชย์เดินหน้าเจรจาการค้าเสรีควบคู่กับการเร่งสร้าง Strategic Partnership


 นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาสที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้เดินหน้าเจรจาการค้าเสรีโดยเร่งสรุปผลการเจรจาเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากความ ตกลงในกรอบต่างๆ ควบคู่ไปกับการมุ่งสร้างพันธมิตรทางการค้า (Strategic Partnership) เพื่อขยายการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน

ในส่วนของการเจรจาภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ที่ผ่านมาได้มอบหมายให้นายวินิจฉัย แจ่มแจ้งผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค ครั้งที่ 23 ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อหาแนวทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยเน้นแนวคิดเรื่องการเติบโตที่ยั่งยืน การใช้นวัตกรรม รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)

สำหรับความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ผู้นำของทั้ง 16 ประเทศได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันไว้ว่าจะสรุปผลให้ได้โดยเร็ว โดยคาดหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากความตกลง RCEP ที่ทันสมัยและมีคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจให้กับภูมิภาคอย่างทั่วถึง โดยในส่วนของไทยนั้น มีเป้าหมายว่าความตกลง RCEP จะมีส่วนช่วยให้สามารถขยายสินค้าไปยังตลาดประเทศต่างๆ ทั่วภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นจุดแข็งของไทย

นอกจากการเร่งสรุปผลการเจรจา ในส่วนของความตกลงที่มีผลบังคับใช้แล้วอย่างกรอบไทย-ชิลี กระทรวงพาณิชย์ก็มีการติดตามการใช้ประโยชน์จากความตกลง รวมทั้งมีการขยายความร่วมมือเพิ่มเติม     โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมคณะกรรมาธิการการค้าเสรีไทย-ชิลี เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2560 เพื่อติดตามผลการใช้ประโยชน์จากความตกลง และขยายความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มขึ้น โดยฝ่ายไทยได้เสนอให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมใน 2 ด้านคือ (1) ส่งเสริมการค้าและการลงทุนโดยแลกเปลี่ยนการนำผู้ประกอบการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าและจับคู่ธุรกิจในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพร่วมกัน รวมทั้งความร่วมมือเพื่อสร้างเครือข่ายทางธุรกิจด้านการค้าและการลงทุนให้กับภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในสาขาที่แต่ละฝ่ายมีศักยภาพ เช่น การแลกเปลี่ยนคณะผู้แทนการค้า การจัดสัมมนาทางธุรกิจร่วมกัน ในสาขาอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น รวมทั้ง (2) ความร่วมมือด้าน E-Commerce โดยผลักดันให้มีการสร้างพันธมิตรระหว่าง Thaitrade.com กับ E-marketplace ที่มีศักยภาพของชิลี ในขณะที่ฝ่ายชิลีได้เสนอให้มีความร่วมมือระหว่างกันในด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อม 

นอกจากการเจรจาการค้าเสรีแล้ว กระทรวงพาณิชย์ยังมุ่งสร้างพันธมิตรทางการค้า หรือ Strategic Partnership เพื่อขยายการค้าการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้อย่างชัดเจน

หนึ่งในประเทศที่กระทรวงพาณิชย์มุ่งเน้นในการสร้างพันธมิตรทางการค้าคือประเทศที่เป็นตลาดใหญ่อย่างจีน โดยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้เข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation (BRF) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยภายใต้หัวข้อ “ความเชื่อมโยงทางการค้า” โดยได้แสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อชี้ให้เห็นถึงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของไทยในการสนับสนุนแนวคิดในการเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยเข้ากับยุทธศาสตร์ One Belt, One Road (OBOR) ซึ่งเป็นการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับจีนที่เป็นรูปธรรม โดยเน้นการส่งเสริม ความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของ SMEs ที่มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 99 ของเศรษฐกิจไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่จะเชื่อมโยงกับ Belt and Road Initiative โดยไทย   มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาค รวมทั้งการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนให้กับจีนในการขยายการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจจีน-  อินโดจีน (China – Indochina Economic Corridor)

นอกจากนั้น ในช่วงที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยังได้ร่วมคณะรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เดินทางเยือนเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 25-29 เมษายน 2560 โดยได้พบปะหารือกับธุรกิจเอกชนรายสำคัญ เพื่อผลักดันการส่งออกผลไม้ไทยให้เข้าสู่ตลาดจีน ซึ่งขณะนี้มี การส่งออกผลไม้ไปจีนแล้ว 6,645 ล้านบาท (ม.ค. – เม.ย. 2560) โดยเฉพาะลำไยและทุเรียน มีการส่งออกแล้ว 3,648 และ1,044 ล้านบาท ตามลำดับ รวมทั้งได้เน้นย้ำให้ผู้นำเข้าข้าวฮ่องกงเชื่อมั่นในคุณภาพและมาตรฐานข้าวของไทย โดยเฉพาะข้าวสุขภาพ ในขณะนี้ฮ่องกงมีการนำเข้าข้าวอินทรีย์ ข้าวไรซ์เบอรี่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ข้าวแปรรูปจากข้าว อาทิ ขนมขบเคี้ยวจากข้าว เช่น บิสกิตข้าวหอมมะลิ/ข้าวไรซ์เบอรี่

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมคณะรองนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่ 4-7 มิถุนายน 2560 เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านการค้าการลงทุนระหว่างทั้งสองประเทศ โดยผู้บริหารระดับสูงของไทยและญี่ปุ่น ได้เป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ไทยกับบริษัทโตโยตา ทูโช เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้บริการต่างๆ ของบริษัทโตโยตา ทูโช ในการกระจายสินค้าไทยในทวีปแอฟริกาได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าวและอาหาร ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่มีศักยภาพในการส่งออกของไทย และเพื่อเป็นการฉลองการสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นครบ 130 ปี กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น และองค์การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น จะนำนักธุรกิจที่มีศักยภาพอย่างน้อย 200 ราย เดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อพบปะนักธุรกิจไทย พร้อมทั้งลงพื้นที่ EEC เพื่อศึกษาถึงโอกาสในการลงทุน


บันทึกโดย : วันที่ : 21 มิ.ย. 2560 เวลา : 15:58:38
18-10-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ October 18, 2024, 1:27 pm