สำนักวิจัยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า แม้กระทรวงพาณิชย์จะรายงานว่า ตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่า 19,944 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 13.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 52 เดือน ส่วนตัวเลขการนำเข้ามีมูลค่าทั้งสิ้น 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้น 18.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยมียอดเกินดุลการค้าทั้งสิ้น 944 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกไทยขยายตัว 7.2% สูงสุดในรอบ 6 ปี เมื่อเทียบกับระยะเดียวกัน ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 15.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้มียอดเกินดุลการค้า 5.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พร้อมระบุมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะเติบโตได้ 5% ตามเป้าที่ตั้งไว้ ขณะที่มองการแข็งค่าของเงินบาท เป็นเพียงปัจจัยในระยะสั้นเท่านั้น
แต่สำนักวิจัยซีไอเอ็มบี ไทย เห็นว่า การขยายตัวของการส่งออกในเดือนนี้เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเป็นการขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3
การส่งออกรายประเทศขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศจีนที่มีการขยายตัว 28.3%(yoy) ขณะที่การส่งออกไปญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยก็ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่นขยายตัว 25.6% ส่วนการส่งออกจากไทยไปสหรัฐอเมริกาขยายตัว 8.8% ด้านการส่งออกของไทยไปในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค อาทิ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ก็ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกไปเวียดนามที่ขยายตัวถึง 29.9%(yoy)
และเมื่อพิจารณารายสินค้า พบว่า กลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรที่เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัว 54.0% ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัว 54.3%
ด้านกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ที่ขยายตัว 30.4%, 11.0% และ 8.7% ตามลำดับ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวนี้ สะท้อนถึงศักยภาพในการแข่งขันและความสามารถในการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้ อย่างไรก็ดี การส่งออกในส่วนของอัญมณีและเครื่องประดับปรับตัวลดลง 42.4%
แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามในส่วนการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 9.3 ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดและเป็นมาตรวัดการลงทุนในประเทศจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยสำนักวิจัยยังคงมองว่า แม้ในระยะนี้ทิศทางของการส่งออกของไทยจะมีแนวโน้มที่สดใส จากแนวโน้มการค้าโลกที่ดีขึ้น และจากระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น (โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางที่ได้รับอานิสงส์จากการสะสมสต๊อกของจีน) อย่างไรก็ดี การเติบโตของการส่งออกที่มาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว อาจส่งผลให้ทิศทางการส่งออกไทยขยายตัวได้ไม่ยั่งยืน เนื่องจากทิศทางของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็มีแนวโน้มชะลอการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี ประกอบกับการลงทุนที่ยังคงอ่อนแอดังกล่าวข้างต้น ดังนั้น สำนักวิจัยจึงคาดว่า แนวโน้มการส่งออกของไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะขยายตัวได้ในอัตราที่น้อยลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้
ขณะที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า แนวโน้มการส่งออกในระยะต่อไปยังคงมีความเสี่ยงจากนโยบายการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีต่อ 16 ประเทศคู่ค้า รวมถึงไทย ในการออกคำสั่งตรวจสอบและหามาตรการเพื่อลดการขาดดุลการค้า โดยอาจกระทบสินค้าในกลุ่มที่ได้รับสิทธิพิเศษ GSP ซึ่งคิดเป็น 23.2% ของการส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมด
อีกทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาคอาจกระทบความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาของผู้ส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ซึ่งเป็นกำลังขับเคลื่อนส่งออกไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนั้น ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพาราและน้ำตาล ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องอาจทำให้การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนรวมกว่า 20% ของการส่งออกทั้งหมด ไม่สามารถขยายตัวได้สูงในช่วงที่เหลือของปี
ข่าวเด่น