ข่าวประชาสัมพันธ์
สถานการณ์น้ำและการช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขัง ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว


สถานการณ์น้ำท่วมขังหลายพื้นน้ำลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำสายหลักต่างๆ ยังคงมีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) พบว่าปัจจุบัน(20 มิ.ย. 60) สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศพบว่า มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันทั้งสิ้น 42,001 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 9,607 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 18,181 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 เขื่อนใหญ่ทั้งประเทศยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,211 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,399 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำปีนี้มากกว่าปี 2559 รวม 3,380 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 4,703 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 26 (ปี 2559 มีน้ำใช้การได้ 1,323 ล้าน ลบ.ม.) 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า  13,472 ล้านลูกบาศก์เมตร

สำหรับสภาพน้ำท่าในแม่น้ำสายหลัก ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก อาทิ แม่น้ำปิง ที่สถานี P.1 อ.เมืองเชียงใหม่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 2.56 เมตร ,สถานี P.7A อ.เมืองกำแพงเพชร ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 5.50 เมตร และสถานี P.17 อ.บรรพตพิสัย จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 3.18 เมตร แม่น้ำวัง ที่สถานี W.1C อ.เมืองลำปาง ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 4.90 เมตร แม่น้ำยม ที่สถานี Y.1C อ.เมือง จ.แพร่ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 7.72 เมตร ,และสถานี Y.4 อ.เมือง จ.สุโขทัย ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 6.43 เมตร แม่น้ำน่าน ที่สถานี N.1 อ.เมืองน่าน ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 8.42 เมตร และสถานี N.67 อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ ระดับน้ำต่ำว่าตลิ่ง 4.84 เมตร ปริมาณน้ำทั้งหมดจะไหลมารวมกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา จ.นครสวรรค์ โดยที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง 5.76 เมตร กรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 567 ลบ.ม./วินาที ยังไม่ส่งกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนที่สถานี C.29 อ.บางไทร ซึ่งเป็นจุดวัดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านลงสู่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 750 ลบ.ม./วินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที)

ในส่วนของสถานการณ์น้ำท่วมและการให้ความช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังนั้น ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เข้าสู่ภาวะปกติเกือบทั้งหมดแล้ว คงเหลือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังในลุ่มต่ำ 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา ดังนี้

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คงเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในลุ่มต่ำทุ่งผักไห่ ประมาณ 1,351 ไร่ ส่วนทุ่งอื่นๆ ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ได้เข้าสู่ภาวะปกติหมดแล้ว สำนักงานชลประทานที่ 10 ได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่รวม 38 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 12 เครื่อง เร่งระบายน้ำออกจากทุ่งอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2-3 วันข้างหน้า


ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ให้เจ้าหน้าที่ทุกโครงการในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมขังเดิมที่ได้มีการระบายน้ำจนสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับให้คงเครื่องสูบน้ำเครื่องจักร และเครื่องมือไว้ในพื้นที่ เพื่อให้สามารถเร่งระบายน้ำได้อย่างทันท่วงที หากเกิดฝนตกหนักลงมาอีก


บันทึกโดย : วันที่ : 24 มิ.ย. 2560 เวลา : 00:28:51
29-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 29, 2025, 5:22 am