เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คนไทยเป็นหนี้ ตั้งแต่วัยรุ่นถึงเกษียณ


ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนเป็นสิ่งที่น่ากังวล  จนอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ  ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการต่างๆเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้น   โดยสะท้อนจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย  อึ๋งภากรณ์   ธนาคารแห่งประเทศไทย  นางโสมรัศมิ์  จันทรัตน์ และ น.ส.อัจจนา ล่ำซำ  หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย   ร่วมกันรายงานผลการวิจัยเรื่อง "มุมมองใหม่หนี้ครัวเรือนไทย ผ่านบิ๊กดาต้า (Big Data) ของเครดิต บูโร" ว่า   หากวัดสัดส่วนหนี้ต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในภาพรวมของไทย ตามมาตรฐานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) ณ ไตรมาส 3 ปี 2559 พบว่า ไทยมีหนี้ต่อจีดีพีอยู่ที่ 71.2%  ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รองจากออสเตรเลีย อันดับ 1 อยู่ที่ 123% และเกาหลีใต้อันดับ 2 อยู่ที่ 91.6% ถือเป็นสัดส่วนที่สูงในระดับต้นๆ ของโลก

          
ข้อมูลจากรายงานวิจัย ยังระบุว่า  คนไทยมีหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเข้าถึงหนี้ได้ตั้งแต่อายุ 19 ปี และพบว่า 1 ใน 2 หรือ 50% ของคนในวัยที่เริ่มทำงาน  ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  โดยคนที่เป็นหนี้และเป็นหนี้เสียมากที่สุดอยู่ในภาคใต้ และภาคกลาง ส่วนภาคเหนือมีหนี้เสียต่ำที่สุด   และเรื่องนี้น่าห่วงคือคนในวัยเริ่มทำงานที่มีรายได้ยังไม่สูง  กลับเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

 
ทั้งนี้ การที่กลุ่มคนอายุน้อยที่อยู่ในวัยเริ่มทำงานเป็นเอ็นพีแอลสูงที่สุด เห็นได้จาก 1 ใน 5 หรือ 20% ของคนวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เสีย และพบว่าคนไทยเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลมากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มคนในวัยเริ่มทำงาน โดย 30% ของคนกลุ่มนี้มีสินเชื่อส่วนบุคคล  สิ่งที่น่ากังวลในเชิงนโยบาย คือ เมื่อคนอายุน้อยในวัยเริ่มทำงานเป็นหนี้เสียแล้ว ก็มักจะเข้าถึงสินเชื่อประเภทอื่นในอนาคตได้ลำบาก ต่อไปจะกู้สินเชื่ออื่นๆ เช่น บ้าน รถยนต์ กู้ทำธุรกิจ ฯลฯ 

อีกประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะอาจเป็นปัญหาในเชิงเสถียรภาพ ได้แก่  คนอายุมาก 60-80 ปีแล้ว  แต่หนี้ก็ยังไม่ลดลง   และยังมีการกู้หนี้หรือเข้าถึงหนี้เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะหนี้ประเภทสินเชื่อส่วนบุคคลเมื่อเทียบกับสินเชื่อประเภทอื่น โดยสัดส่วนการเป็นหนี้ในสินเชื่อส่วนบุคคลสูงที่สุด 17% สินเชื่อรถยนต์และบัตรเครดิต 9% และสินเชื่อบ้าน 4% 

 
 
และจากการสำรวจในเชิงพื้นที่งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า มีการกระจุกตัวของคนที่เป็นหนี้ โดยผู้กู้รายใหญ่ 10%  ซึ่งมีปริมาณหนี้รวมกันถึง 62.4% ยังกระจุกตัวในเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคกลาง เป็นภาคที่มีจำนวนประชากรที่มีหนี้มากที่สุด เนื่องจากคนในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่มีคุณสมบัติในการเข้าถึงสินเชื่อมากกว่าพื้นที่อื่น เช่น มีรายได้ประจำที่แน่นอน  เป็นต้น

ขณะที่คนในชนบทถึงสัดส่วนการเข้าถึงหนี้ของประชากรจะน้อยกว่า แต่คนกลับมีหนี้ต่อหัวมากกว่าคนในเมือง  โดยหนี้ต่อหัวเฉลี่ยของคนในชนบทอยู่ที่ 1.6 แสนบาท/คน ส่วนคนในเขตเมืองมีหนี้ต่อหัวเฉลี่ย 1.2 แสนบาท/คน

ทั้งนี้ เมื่อแยกตามพื้นที่  คนภาคเหนือมีหนี้ต่อหัวสูงที่สุดเฉลี่ยที่ 1.8 แสนบาท/คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 1.6 แสนบาท/คน ภาคใต้ 1.5 แสนบาท/คน ภาคกลาง 1.37 แสนบาท/คน และคนกรุงเทพฯ และปริมณฑล1.02 แสนบาท/คน
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 27 มิ.ย. 2560 เวลา : 21:17:17
24-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 24, 2025, 12:53 pm