แม้จะมีปัจจัยลบเข้ามารุมเร้าธุรกิจขายตรงเป็นระยะๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ หรือปัญหาแชร์ลูกโซ่ที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค แต่ภาพรวมธุรกิจขายตรงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ก็ยังสามารถขยายตัวได้ในทิศทางที่น่าพอใจ เห็นได้จากภาพรวมของธุรกิจขายตรงไทยในไตรมาสแรกที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2-3% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2559
สำหรับแนวโน้มในไตรมาส 2 นี้ก็มีการคาดการณ์กันว่าน่าจะเติบโตดีขึ้น เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มอบโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถสร้างเป็นอาชีพ สร้างรายได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีธุรกิจส่วนตัว หรือต้องการหารายได้เสริมจากงานประจำ ซึ่งจากคุณสมบัติดังกล่าวของธุรกิจขายตรง จึงทำให้ในแต่ละเดือนมีผู้สนใจทยอยเข้าสู่ธุรกิจขายตรงเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจขายตรงจะเป็นอาชีพที่เปิดกว้างที่ใครๆ ก็สามารถเข้ามาทำธุรกิจก็ได้ แต่เนื่องจากสังคมได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก ทุกคนสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ เพียงแค่ปลายนิ้ว เพียงมีแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ มีสินค้าที่ต้องการจะทำตลาด และมีช่องทางโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้แล้ว ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ธุรกิจขายตรงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องปรับตัวตามสถานการณ์ของโลกให้ทัน
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำการตลาดของธุรกิจขายตรงเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป จากเดิมอาจใช้ตัวแทนเป็นตัวกลางในการจำหน่ายสินค้า แต่ปัจจุบันเริ่มมีการใช้สื่อดิจิทัลในการจำหน่ายสินค้า พูดคุยกับกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และเครือข่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ จากการที่สื่อดิจิทัลโดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้บริโภค ส่งผลให้การตัดสินใจซื้อสินค้าในแต่ละชิ้น ขึ้นอยู่กับผู้ทรงอิทธิพลจากหลายวงการ เช่น บล็อคเกอร์ หรือเน็ตไอดอล ซึ่งหลังจากผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรงได้เริ่มมีการปรับกลยุทธ์การทำตลาดออกมาในรูปแบบดังกล่าว ส่งผลให้ยอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาให้ความสนใจซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น
บริษัท แอมเวย์(ประเทศไทย) จำกัด ถือเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่หันมาให้ความสำคัญกับการทำการตลาดในส่วนของช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปกับออฟไลน์ เนื่องจากปัจจุบันแอมเวย์มีสัดส่วนนักธุรกิจที่เป็นกลุ่มเจนวายมากถึง 30-35% จึงต้องปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด
นอกจากจะให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์ในการขยายนักธุรกิจ และขยายช่องทางขายให้เพิ่มขึ้นแล้ว เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต บริษัท แอมเวย์ จึงได้ตัดสินใจใช้งบลงทุน 40 ล้านบาท ปรับระบบการจัดเก็บสินค้า ด้วยการย้ายศูนย์กระจายสินค้าจากเดิมที่อยู่ในย่านศรีนครินทร์ มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตร.ม. มายังศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ที่โครงการ TPARK บางพลี 1 ซึ่งพัฒนาโดยบริษัท ไทคอน โลจิสติคส์ พาร์ค จำกัด โดยในส่วนของศูนย์กระจายสินค้าแห่งดังกล่าวจะมีขนาดพื้นที่ประมาณ 10,280 ตร.ม.
นายกิจธวัช ฤทธีราวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การที่บริษัทมีการย้ายศูนย์กระจายสินค้ามาอยู่ที่โครงการ TPARK บางพลี 1 เพราะต้องการให้การจัดส่งสินค้ามีความสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งในส่วนของเทคโนโลยีที่บริษัทย์นำมาใช้ เพื่อยกระดับการจัดการสินค้ารูปแบบใหม่คือ การจัดเก็บและกระจายสินค้าให้นักธุรกิจแอมเวย์และสมาชิกเพื่อจัดส่งสินค้าถึงบ้าน (Home Delivery) ทั้งแอมเวย์ ช็อป 83 สาขาทั่วประเทศ
ในส่วนของเทคโนโลยีที่นำมาเป็นตัวช่วยในการจัดส่งสินค้า คือ Digital Picking System หรือการจัดสินค้าที่ใช้ระบบดิจิทัลเป็นตัวกำหนดและควบคุมการทำงานมาใช้ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วแม่นยำในการจัดสินค้าและลดต้นทุนการจัดการได้ในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการจัดสินค้าขึ้นรถด้วย Digital Loading System ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบดิจิทัลโดยไม่ต้องใช้ข้อมูลจากรายงานบนกระดาษ ซึ่งการพัฒนาด้วยเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นสิ่งที่แอมเวย์ให้ความสำคัญและเตรียมพร้อมเพื่อรองรับแผนในอนาคต
นายกิจธวัช กล่าวว่า ความรวดเร็วถือเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคกว่า 1 ล้านครัวเรือนในไทย ผ่านแอมเวย์ช็อป 83 สาขาทั่วประเทศ ดังนั้นการมีศูนย์กระจายสินค้าที่มีศักยภาพจึงถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกันยังถือเป็นการสร้างมาตรฐานศูนย์กระจายสินค้าของแอมเวย์ประเทศไทยให้เทียบเท่าระดับมาตรฐานโลก เพื่อรองรับการขายตัวของธุรกิจในอนาคต
หลังจากเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งที่ยั่งยืนต่อเนื่อง แอมเวย์ มั่นใจว่าสิ้นปี 2560 นี้ น่าจะมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 3-5% เมื่อเทียบกับปี 2559 ที่แอมเวย์ ประเทศไทย มีรายได้อยู่ที่ประมาณ 17,500 ล้านบาท เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีรายได้เติบโตสูงถึง 10% สวนกระแสภาพรวมตลาดและเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งในส่วนของรายได้ที่แอมเวย์ ประเทศไทย ได้รับในปี 2559 หากนำมาเปรียบเทียบกับช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเติบโตถึง 3 เท่าตัว เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว แอมเวย์ ประเทศไทย มีรายได้อยู่แค่เพียง 5,000 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับกลุ่มสินค้าหลักที่สร้างรายได้ให้กับ แอมเวย์ ประเทศไทย ยังคงเป็นในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนิวทริไลท์ เนื่องจากผู้บริโภคหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบิวตี้หรือความงาม ยังต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อให้มีรายได้เติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
การออกมาเตรียมความพร้อมด้วยการหันมาปรับหลังบ้านในครั้งนี้ น่าจะทำให้แอมเวย์มีความพร้อมรองรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการบริการด้านการจัดส่งสินค้า เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้การดำเนินงานมีความรวดเร็วมากขึ้น ส่วนจะผลักดันให้ แอมเวย์ ในประเทศไทยมียอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้น คงต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจและกำลังซื้อเป็นตัวประกอบด้วย
ข่าวเด่น