เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เงินเฟ้อ มิ.ย. ติดลบ 0.05% ต่ำสุดรอบ 15 เดือน


น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนมิ.ย.60 ว่า เท่ากับ 100.66 ลดลง 0.05% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 59 ซึ่งเป็นการปรับลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 15 เดือน นับจากเดือนมี.ค.59 ที่ติดลบ 0.46% แต่เมื่อเทียบกับพ.ค.60 สูงขึ้น 0.02% ขณะที่เฉลี่ยครึ่งปีแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 60 เพิ่มขึ้น 0.67%

          
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อ มิ.ย. ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เป็นผลจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.70% โดยสินค้าสำคัญราคาลดลง เช่น ผักและผลไม้, ไข่และผลิตภัณฑ์นม, เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ, ข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์ ส่วนหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 0.32% สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง, ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าหอพัก เป็นต้น
          
อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าราคาสูงขึ้น 151 รายการ เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว อาหารสำเร็จรูป/แพ็กพร้อมปรุง ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง เป็นต้น สินค้าราคาไม่เปลี่ยน 163 รายการ และสินค้าราคาลดลง 108 รายการ
          
น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ไม่กังวลตัวเลขเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงติดต่อกัน เพราะสาเหตุที่ลดลงมาจากสาเหตุสินค้าตามฤดูกาล หรือผักและผลไม้ ซึ่งปีก่อนได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ราคาสูงขึ้นมาก แต่ปีนี้ไม่มีปัญหาดังกล่าว ทำให้ราคาเมื่อเทียบกับฐานปีก่อนลดลงมา รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ แชมพู มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย (โปรโมชั่น) เมื่อยกเลิกการจัดโปรโมชั่นทำให้มีผลต่ออัตราเงินเฟ้อเช่นกัน
          
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อปี 60 สำนักงานฯได้ปรับประมาณการมาอยู่ในกรอบขยายตัว 0.7-1.7% ลดจากเดิมที่คาดการณ์ขยายตัว 1.5-2.2% เพราะได้มีการปรับสมมติฐานใหม่ โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบที่ได้ปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 45-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากเดิมคาดที่ระดับ 50-60 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิม 35.5-37.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยยังใช้สมมติฐานเดิมคือ ขยายตัว 3-4%
          
“ที่ต้องปรับคาดการณ์เงินเฟ้อลดลง เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยครึ่งปีแรกราคาไม่ได้ปรับขึ้นแรงอย่างที่ประเมินกันไว้ เฉลี่ยราคาน้ำมันดิบดูไบเดือนมิ.ย.อยู่ที่ 45.73 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นมา จึงปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อใหม่” น.ส.พิมพ์ชนก กล่าว.

          

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 03 ก.ค. 2560 เวลา : 22:03:55
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 1:43 pm