การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายในประเทศ เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง แม้รัฐบาลจะผ่อนผันเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบบ้างในระยะแรก เพราะเมื่อแรงงานเหล่านี้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน จะส่งผลดีต่อประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม
ซึ่งพล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงข้อกังวลของภาคเอกชนเกี่ยวกับการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ว่า รัฐบาลรับทราบปัญหาและเข้าใจถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าว โดยจะใช้ ม.44 ชะลอหรือเลื่อนการบังคับใช้บางมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปก่อน เพราะนายจ้างและลูกจ้างเตรียมตัวไม่ทัน แต่มาตราที่เหลือยังคงบังคับใช้อยู่
โดยยืนยันว่า รัฐบาลเคารพในพันธะกรณีที่ทำไว้กับประเทศต่าง ๆ และให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยจะไม่ให้การใช้หรือไม่ใช้ พ.ร.ก.คนต่างด้าว เป็นอุปสรรคในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายดังกล่าวนั้นถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อสร้างมาตรฐานของการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในไทย ซึ่งสอดคล้องกับกฎกติกาและการยอมรับของต่างประเทศ
นายกรัฐมนตรียังย้ำว่า รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลแรงงานทุกคนที่อยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานไทยหรือแรงงานต่างด้าว ภายใต้หลักมนุษยธรรมและศักดิ์ศรีความเป็น และขอให้ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง และประชาชน หันมาร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะเป็นปัญหาระดับประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจได้ หากแต่ละคนละเลย เพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมองแต่เพียงประโยชน์ของตนเองฝ่ายเดียว
ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอทางออก 6 ประการให้รัฐบาลดำเนินการ เพื่อลดผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ได้แก่
1.เสนอให้ใช้มาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้ไปก่อนอย่างน้อย 6 เดือน และให้มีศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวและขอใบอนุญาตทำงานตามสำนักงานจัดหางานในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ไม่ใช่ให้กลับไปที่ชายแดน ส่วนพวกที่เข้าเมืองผิดกฎหมายและต้องพิสูจน์สัญชาติจึงให้ไปขึ้นทะเบียนที่ชายแดน
2.เสนอให้ออกเป็น พ.ร.บ.การปฏิรูประบบการบริหารจัดการและจัดระเบียบแรงงานต่างชาติ พ.ศ.2561 แทน พ.ร.ก.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศ.2560 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วมในการออกกฎหมาย และให้เกิดการบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติของแรงงานวิชาชีพชั้นสูงและผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ชาวต่างชาติ มิติทางด้านการศึกษาวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มิติด้านสวัสดิการและความเป็นธรรมในการจ้างงาน มิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคง มิติด้านสาธารณสุขและสุขอนามัย มิติด้านการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานทาส มิติด้านโครงสร้างประชากร, สังคมสูงวัยและกระบวนการให้สัญชาติไทย มิติด้านความสมดุลการเปิดเสรีตลาดแรงงานและการปกป้องตลาดแรงงานของคนไทยหรือการสงวนอาชีพ มิติความยั่งยืนทางการเงินของระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มิติผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาคการผลิต มิติภาระทางการคลัง เป็นต้น
3.เนื้อหาของ พ.ร.บ.การปฏิรูประบบแรงงานต่างชาติ ควรครอบคลุมถึงการบริหารจัดการการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ 8 สาขาภายใต้ข้อตกลงประชาคมอาเซียน เตรียมกลไกและระบบรองรับสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานโดยเสรีที่จะเกิดขึ้นในอนาคตภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก ประเด็นผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ประเด็นความเป็นธรรมและสวัสดิการในการจ้างงานให้ชัดเจน
4.รัฐบาลไทยควรทำสัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับสิทธิพื้นฐานในการรวมกลุ่ม และ อำนาจในการเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานพื้นฐานและเป็นสิทธิมนุษยชนอีกด้วย และแรงงานต่างชาติในไทยควรได้รับสิทธินี้เช่นเดียวกันอันเป็นมาตรฐานสากลขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ
5.รัฐควรส่งเสริมให้อุตสาหกรรมและโรงงานที่ใช้แรงงานทักษะต่ำเข้มข้นซึ่งต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก นำเทคโนโลยี Automation และ หุ่นยนต์มาทำงานแทนสำหรับการผลิตแบบซ้ำๆ เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายกลับประเทศในอนาคตของแรงงานต่างด้าว
6.รัฐและเอกชนต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมที่จำเป็นสำหรับคนงานต่างด้าวและครอบครัวของแรงงานเพื่อให้ แรงงานรวมทั้งครอบครัว เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งเป็นพลเมืองต่างชาติที่มีคุณภาพในสังคมไทย อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจไทยและความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ อย่างน้อยที่สุด ควรให้การศึกษาเรื่องภาษาไทย ความปลอดภัยในการทำงานและกฎหมายพื้นฐานของไทย
ข่าวเด่น