เป็นไปตามคาด! คณะกรรมการนโยบายการเงิน มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่ระดับเดิม 1.5% ต่อปี มองเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ปรับเพิ่มเป้าจีดีพีปีนี้ขึ้นเล็กน้อย โต 3.5% จากส่งออกโตพรวด 5% ส่วนปีหน้ามองจีดีพีโต 3.7% แต่เตือนระวังตลาดเงิน-ตลาดทุนผันผวน เหตุต่างชาติเริ่มเข้ามาเก็งกำไร
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน และในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 1.5% ต่อปี โดยคณะกรรมการมองว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายในบางช่วงจากปัจจัยด้านอุปทาน แต่มีทิศทางสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวตามรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น แต่รายได้ของแรงงานในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลดีอย่างชัดเจนจากการส่งออกที่ปรับตัวดี ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมยังไม่เข้มแข็ง การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจของไทย นายจาตุรงค์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 3.5% จากเดิมที่ 3.4% ด้านปี 2561 ปรับเพิ่มเป็น 3.7% จากเดิมคาด 3.6% ด้านการส่งออกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5% จากเดิมที่ 2.2% ส่วนปี 2561 ปรับลดลงเหลือ 1.7% จากเดิมที่ 2% ส่วนการนำเข้าปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 10.9% จากเดิมที่ 7.2% ด้านปี 2561 คาดอยู่ที่ 5.4% จากเดิมที่ 5.3%
ด้านดุลบัญชีเดินสะพัด ปีนี้ปรับเพิ่มขึ้นเน 39.7 พันล้านดอลลาร์จากเดิมคาด 36.9 พันล้านดอลลาร์ ส่วนปี 2561 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 32.7 พันล้านดอลลาร์ จากเดิมคาด 33.1 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปีนี้ คาดจะอยู่ที่ 1.7% จากเดิมคาด 2.4% ด้านปี 2561 คาดอยู่ที่ 3.1% ส่วนการลงทุนภาครัฐ ปีนี้จะอยู่ที่ 7.7% ลดลงจากเดิมที่คาด 11.8% ส่วนปี 2561 คาดจะอยู่ที่ 9.2% จากเดิมที่ 7.5%
นอกจากนี้ ยังได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้ คาดจะอยู่ที่ 0.8% จากเดิมอยู่ที่ 1.2% ส่วนปี 2561 คาดจะอยู่ที่ 1.6% จากเดิมคาด 1.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปี 2560 คาดอยู่ที่ 0.6% จากเดิมคาด 0.7% ส่วนปีหน้าคาดอยู่ที่ 0.9% จากเดิมคาด 1%
อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลง และอาจต่ำกว่ากรอบเป้าหมายบางช่วง ส่งผลให้กนง.มีมติให้ปรับประมาณการลดลง ส่วนความเสี่ยงมีความไม่แน่นอนของนโยบายทางการค้าของสหรัฐ การปรับโรงสร้างของเศรษฐกิจจีน รวมถึงความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ด้านการส่งออกขยายตัวดี สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดี การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการลงทุนในภาคการผลิตเพื่อส่งออกเป็นสำคัญ
ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ แม้การลงทุนในบางโครงการอาจล่าช้ากว่าที่คาดไปบ้าง ด้านราคาน้ำมันปรับลดลงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ ตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นของสหรัฐ ลิเบีย และไนจีเรีย แต่ในระยะต่อไปจะปรับเพิ่มขึ้น โดยกนง.คาดว่าน้ำมันดิบดูไบในปีนี้จะอยู่ที่ 50.9 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 52.3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนปี 2561 คาดอยู่ที่ 52.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 54.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะความต่อเนื่องของการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ความไน่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐ ที่จะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย และตลาดการเงิน ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยเฉพาะการเข้ามาเก็งกำไรในระยะสั้น ดังนั้นจึงต้องจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังต้องติดตาม นโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก การปรับโครงสร้างของเศรฐกิจจีน และความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์โลก นอกจากนี้คณะกรรมการขอให้ติดตามผลกระทบจากสถานการณ์แรงงานต่างด้าวใกล้ชิดด้วย
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอตัวลงจากปัจจัยด้านอุปทานเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจากอาหารสดที่ปรับลดลงตามผลผลิตผักและผลไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เอื้ออำนวยและผลของฐานสูงจากภาวะภัยแล้งในปีก่อน รวมทั้งราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลง แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ภาวะการเงินยังอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ สภาพคล่องในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลแลอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบที่ 0.3%”นายจาตุรงค์ กล่าว
นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับค่าเงินในช่วงที่ผ่านมายังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาค โดย กนง.จะติดตามการเคลื่อนย้ายเงินทุนระยะสั้นต่อไป อย่างไรก็ตาม ระบบการเงินโดยรวมยังมีเสถียรภาพ สามารถรับมือกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจการเงินทั้งในและต่างประเทศได้ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การชำระหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอี ซึ่งสะท้อนปัญหาความสามารถในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังต้องติดตาม พฤติกรรมแสดงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจจำไปสู่การประเมินความเสี่ยงของตลาดที่ต่ำกว่าที่ควร
ข่าวเด่น