เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ไทย-ฝรั่งเศส ประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กรุงเทพฯ


กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านเศรษฐกิจไทย-ฝรั่งเศส (High Level Economic Dialogue: HLED) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ เพื่อพิจารณาขยายความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน โดยมีรองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม) เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนางซองดรีน โกเดง รองอธิบดีสำนักงานการคลัง รับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีและการดำเนินงานระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง เป็นประธานร่วมฝ่ายฝรั่งเศส


นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม  รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การประชุม HLED ถือเป็นเวทีสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นทางการค้าต่างๆ เช่น ความคืบหน้าการดำเนินการภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลงทางการค้า ทั้งในระดับพหุภาคี ภูมิภาค และทวิภาคี ตลอดจนการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ อาทิ นโยบายประเทศไทย 4.0  สถานการณ์ Brexit และนโยบายของนาย Macron ประธานาธิบดีคนใหม่ของฝรั่งเศส  และไทยได้ใช้โอกาสนี้  แจ้งฝรั่งเศสทราบถึงนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจของไทยจากการผลิตโดยใช้ต้นทุนต่ำ  ไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation) และการเพิ่มมูลค่า (Value-Based Economy) เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้า  ซึ่งฝรั่งเศสแจ้งว่ารัฐบาลฝรั่งเศสก็มีแนวคิดลักษณะเดียวกัน คือ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง

ในการนี้ ไทยได้เชิญชวนให้ฝรั่งเศสมาลงทุนในไทยโดยเฉพาะในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ซึ่งเป็นเขตส่งเสริมการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ พลังงานและพลังงานทดแทน เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีวิทยาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่น่าจะร่วมมือกันได้ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาไทยมีการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบหลายเรื่องที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

ปัจจุบัน ฝรั่งเศสและไทยมีความร่วมมืออยู่แล้วในหลายสาขาอุตสาหกรรม อาทิ โครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ณ อู่ตะเภา ความร่วมมือด้านดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ความร่วมมือระบบราง และความร่วมมือด้านพลังงาน เป็นต้น ซึ่งไทยได้ใช้โอกาสการประชุมครั้งนี้เสนอให้เพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะการส่งผู้เชี่ยวชาญของฝรั่งเศส มาแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องที่ฝรั่งเศสเชี่ยวชาญ เช่น การพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่ การสร้างและบริหารแบรนด์ เทคนิคการสกัดสารเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำหอม เครื่องสำอาง การส่งเสริมระบบการควบคุมและรักษามาตรฐานของสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งฝรั่งเศสแสดงความสนใจและแจ้งว่าสนใจที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นเรื่องท้าทายของประเทศต่างๆในปัจจุบัน เช่น การวิจัยและพัฒนา ตลอดจนผลิตสินค้ารองรับผู้สูงอายุ และความร่วมมือด้านการเงินการคลังระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) เป็นต้น ไทยยังได้เชิญชวนให้ฝรั่งเศสเข้ามาใช้ประโยชน์และลงทุนในโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) โดยเฉพาะการลงทุนและการวิจัยพัฒนาแลกเปลี่ยนทางวิชาการด้านความปลอดภัยอาหาร เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอาหาร และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งฝรั่งเศสแสดงความสนใจและยินดีที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการเข้ามาลงทุนในโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร ตลอดจนการมีความร่วมมือทางวิชาการกับไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนี้ เนื่องจากฝรั่งเศสเป็นประเทศต้นๆ ในสหภาพยุโรปที่เริ่มรับจดทะเบียนสินค้า    สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่มิใช่สินค้าเกษตร ไทยได้แจ้งความสนใจที่จะยื่นจดทะเบียนสินค้า GI ที่มิใช่สินค้าเกษตรในฝรั่งเศส โดยอาจจะเป็นผ้าไหมและสินค้าหัตถกรรมของไทย ในเร็วๆนี้ ด้วย  โดยขณะนี้อยู่ระหว่างคัดเลือกสินค้าที่เหมาะสมที่จะยื่นจด

นางอรมน กล่าวว่า การประชุม HLED จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2559 และจะจัดต่อไปเป็นประจำทุกปี  สำหรับครั้งต่อไป ฝรั่งเศสเสนอจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่กรุงปารีส  โดยฝรั่งเศสถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยและเป็นคู่ค้าอันดับที่ 4 ในกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (รองจากเยอรมนี สหราชอาณาจักร และเนเธอร์แลนด์)  ในปี 2559 การค้าไทยกับฝรั่งเศสมีมูลค่า 4.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปฝรั่งเศสเป็นมูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสินค้าออกที่สำคัญ อาทิ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เลนซ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และข้าว ในขณะที่ ไทยนำเข้าสินค้าจากฝรั่งเศสเป็นมูลค่า 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสินค้านำเข้าที่สำคัญ เช่น เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบินและส่วนประกอบ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องดื่มประเภทน้ำแร่ น้ำอัดลมและสุรา เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เป็นต้น

 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ก.ค. 2560 เวลา : 21:31:07
27-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 27, 2024, 2:54 pm